Wednesday, November 30, 2011

วิญญาณของความเป็นครู

   วิญญาณของความเป็นครู
              โดย พุทธทาสภิกขุ 
ตอน ขอให้รักษาอุดมคติเดิม ๆ หรือว่าอย่างน้อย ก็ให้รู้ว่าครูนี้เป็น   ปูชนียบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้าง.
       ตั้งแต่อาตมาเป็นเด็ก ๆ แล้ว ครูก็สอนให้เห็นว่าครูเป็นปูชนียบุคคลมากที่สุด. แล้วรุ่นต่อมานี้มันจางลง - จางลง จนเด็ก ๆ สมัยนี้ไม่เห็นครูเป็นปูชนียบุคคล ; เด็กเดี๋ยวนี้เห็นครูเป็นลูกจ้าง, นี่ผลของอะไรก็ลองคิดดูเองก็แล้วกัน ; แต่ อยากจะโทษว่าเพราะครูสอนไม่ดี เด็ก ๆ จึงไม่เห็นครูเป็นปูชนียบุคคล. ถ้าครูสอนให้ดี ทำตัวให้ดี อะไรดี เด็ก ๆ จะเห็นครูเป็นปูชนียบุคคล ปัญหามันก็จะหมด. เดี๋ยวนี้ปัญหาที่จะเผาประเทศให้ไหม้เป็นไฟไปก็คือว่าเด็ก ๆ ไม่นับถือว่าครูเป็นปูชนียบุคคล ไม่เคารพครู.
          ถ้าเด็กไม่เคารพครู สิ่งต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้, เพียงแต่ไม่เคารพครูอย่างเดียวเท่านั้น ปัญหาต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นมาก แล้วแก้ไม่ได้ ; ฉะนั้น เด็ก ๆ จะต้องไปเป็นอะไร ชนิดที่สร้างความยุ่งยากลำบากแก่สังคมมากขึ้น.
          ขอให้รักษาอุดมคติของคำว่า ครู ชนิดที่เป็นครู ครูบริสุทธิ์ไว้ ; จะทำได้อย่างไร ? ก็ทำได้ด้วยการเอาธรรมะเข้ามา. พูดสมัยใหม่ก็ว่าประยุกต์ธรรมะนี้ให้เข้ากับครู : ให้ครูมีธรรมะ ครูก็กลายเป็นธรรมบุตร เหมือนกับชื่อของค่ายนี้ว่า ค่ายธรรมบุตร. ธรรมบุตร แปลว่า บุตรแห่งธรรม หรือลูกแห่งธรรม. ผู้ใดเอาธรรมะมาประยุกต์เข้ากับชีวิตของตน มีอยู่ที่ กาย วาจา ใจ แล้ว คนนั้นก็กลายเป็นธรรมบุตร เป็นบุตรของพระธรรม เป็นบุตรของพระเจ้า, หรือเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าไปในที่สุด.
          ตัวครูเองต้องทำตัวให้เป็นธรรมบุตรเสียก่อน เราจึงสามารถทำเด็ก ๆ ให้เป็นธรรมบุตรได้. เรานี่ทำตัวให้เป็นธรรมบุตรโดยถูกต้องเสียก่อน แล้วเราก็จะสามารถทำให้เด็ก ๆ กลายเป็นธรรมบุตรได้. ถ้าเราก็เป็นธรรมบุตรไม่ได้ ก็ไม่มีหวังในข้อนี้ ที่จะไปให้เด็กเป็นธรรมบุตรได้ ในเมื่อเราเป็นไม่ได้.
          ลองไปคิดดูถึงความหมายของคำว่าธรรมบุตร ลูกของพระธรรม, เป็นลูกของพระธรรม เป็นบุตรของพระธรรม ก็ต้องบูชาพระธรรมยิ่งกว่าสิ่งใด. มอบชีวิตจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นให้แก่พระธรรมได้ ; ดังนั้น จึงมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรา ; แม้เราจะไม่รู้ ก็เป็นผู้มีธรรม และเป็นธรรมบุตรอยู่ในตัว. บัดนี้ครูอยู่ที่ไหน ๆ ก็มาที่นี่, มานั่งอยู่ที่นี่ซึ่งเรียกว่าค่ายธรรมบุตรแล้ว ; อาตมาขอร้อง, ขอวิงวอนขอร้องว่า อย่าให้เสียทีเปล่า ที่ได้เข้ามานั่งนอนในค่ายธรรมบุตรนี้ ขอให้มีความเป็นธรรมบุตรนี้ติดตัวไปด้วย แล้วก็จะสามารถนำเด็ก ๆ ให้เป็นธรรมบุตร สืบ ๆ สืบ ๆ ต่อกันไปไม่รู้ขาดสาย.
          ทั้งหมดนี้ สำเร็จได้ด้วยการยอมเสียสละ ถ้าไม่มีการเสียสละแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ; เพราะว่าครูเป็นปูชนียบุคคล มีเดิมพันอยู่ที่การเสียสละ. ถ้า ไม่มีการเสียสละแล้วไม่มีการเป็นครู ; นี่เพราะว่าครูเป็นปูชนียบุคคล มีพระเดชพระคุณท่วมท้นอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของคนทั้งหลาย ก็เพราะเหตุเพียงอย่างเดียวคือ ว่าเสียสละ ; เรายอมเสียสละทุกอย่างทุกประการ เพื่อหน้าที่ของเรา.
          อุดมคติของครู ก็คือ อุดมคติของโพธิสัตว์ คงจะเคยได้ยินกันมา คำว่า "โพธิสัตว์" หรือพระโพธิสัตว์. อย่าได้เข้าใจเป็นอย่างอื่นสำหรับคำว่าพระโพธิสัตว์นั้น มีสปิริต หรือวิญญาณอยู่ตรงที่ว่าเป็น ผู้เสียสละ ผู้บูชาความเสียสละ เขาจึงเรียกว่าโพธิสัตว์. พระพุทธเจ้าก็เป็นโพธิสัตว์ก่อนตลอดเวลานั้น ก็คือเสียสละทุกอย่างทุกประการ จึงเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด, หรือพระโพธิสัตว์องค์ไหนก็ตาม จะมีชื่อว่าโพธิสัตว์ได้ ก็มีวิญญาณเป็นการเสียสละทั้งนั้น ; อย่างอื่นไม่มี ไม่ใช่จุดมุ่งหมายอันใหญ่ จุดมุ่งหมายอันใหญ่ก็คือการเสียสละ. ส่วนสติปัญญาความเมตตากรุณานั้นก็มาเป็นของแวดล้อม เป็นของประกอบ ; ถ้าเรายอม ยอมเสียสละได้แล้ว เราก็แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้.
          ในเมื่ออุดมคติของครูก็คืออุดมคติของโพธิสัตว์ ดังนั้น ก็หลีกการเสียสละไปไม่พ้น ; ฉะนั้น ขอให้ชอบให้พอใจ ในการเสียสละ : คือ เสียสละเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่เสียสละเพื่อเรา. ถ้าเสียสละเพื่อเราไม่ใช่การเสียสละ.
          ขออภัยที่ต้องย้ำหรือขอเตือนทั้งที่เข้าใจว่า คงจะทราบกันอยู่แล้ว แต่กลัวจะเผลอ ; ถ้าเสียสละเพื่อประโยชน์แก่เราแล้ว มันไม่ใช่การเสียสละ การเสียสละต้องเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เรา.
          ที่เราเหน็ดเหนื่อยอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อเราจะได้ขึ้นเงินเดือนหรือเพื่ออะไรนี้ อย่างนี้ไม่เรียกว่าการเสียสละ. ถ้าเป็นการ เสียสละ ก็คือว่า ให้แก่ผู้อื่น คือการทำลายความเห็นแก่ตัวออกไปได้ มันจึงจะเรียกว่าเป็นการเสียสละ. ทีนี้ พอพูดเพียงเท่านี้ท่านทั้งหลายทุกคนก็จะมองเห็นเป็นวงกว้างออกไป ว่า ปัญหายุ่งยาก ของประเทศไทยเรา ของรัฐบาล ของประชาชนอะไร มันจะอยู่ที่การเสียสละ. นี่พูดแล้วเดี๋ยวจะเป็นการเมือง ไม่ต้องพูดมาก ; มันอยู่ที่ไม่มีใครยอมเสียสละ มีแต่จะกอบโกย.
          ถ้าพวกครูเกิดเป็นพวกกอบโกยขึ้นมาละก็ หมดเลย โลกนี้ไม่มีที่พึ่ง ; เพราะว่าครูเป็นผู้ปั้นวิญญาณของอนุชนเด็ก ๆ เล็ก ๆ ให้เติบโตขึ้นมาตามลำดับ. เด็ก ๆ เหล่านี้ ไปเป็นนายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานาธิบดีอะไรเข้ามันก็แย่. เราจะต้องปั้นวิญญาณของเด็ก ๆ ให้เป็นไปถูกทาง แล้วโลกนี้ก็จะรอดได้ : แล้วเราต้องเสียสละ ส่วนเงินเดือนอะไร ยศถาบรรดาศักดิ์อะไรนั้น มันเป็นเครื่องประดับ ; อุดมคติแท้ ๆ อยู่ที่การเสียสละ เพื่อจะยกวิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ให้สูงขึ้นให้จงได้เท่านั้นเอง.
          นี่สรุปความกันเสียทีว่า เป็นครู - นี่ครูนี้คืออะไร ? ครูนี้คือผู้ยกวิญญาณหรือผู้นำในทางวิญญาณของสัตว์โลก. เนื่องจากอะไร ? เนื่องจากธรรมชาติอันเร้นลับหรือพระเจ้าหรือพระธรรม ต้องการให้มีบุคคลชนิดนี้อยู่ในโลก. เพื่อประโยชน์อะไร ? เพื่อประสิทธิภาพของมนุษย์ในการเป็นมนุษย์ที่ดี และเพื่อจะได้มีสันติสุขทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม. แล้วก็จะสำเร็จได้โดยวิธีใด ? จะสำเร็จได้โดยการเสียสละ เพื่อทำตนให้เป็นครูอุดมคติ ด้วยการมีธรรมะ ประยุกต์ธรรมะให้เข้ากันกับความเป็นครู. นี่เป็น logic ง่าย ๆ ว่า ครูคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด ใน ๔ หัวข้อ.
          ครูคืออะไร ? คือผู้ยกวิญญาณของโลก ; เนื่องจากอะไร ? เนื่องจากธรรมชาติต้องการ ; เพื่อประโยชน์อะไร ? เพื่อมนุษย์จะมีประสิทธิภาพในการสร้างสันติสุข ; และโดยวิธีใด ? ก็โดยเป็นครูที่ถูกต้องแท้จริงตามอุดมคติของคำว่าครู มีธรรมะ ประยุกต์ธรรมเข้ากับความเป็นครู เราก็เป็นธรรมบุตร.
          นี่ ใจความสั้น ๆ มีเท่านี้ จะน่าฟังหรือไม่น่าฟังก็สุดแท้ ; แต่อาตมามีความรู้สึกใจจริงว่า คำพูดนี่จะมีประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายเป็นแน่นอน จึงได้เอามาพูด. ส่วนที่จะเพราะหรือไม่เพราะ น่าฟังหรือไม่น่าฟัง นั้นมันอีกเรื่องหนึ่งช่วยไม่ได้. อาตมานึกแล้วนึกอีกว่านับตั้งแต่ได้รับคำขอร้อง ให้มาพูดที่นี่ ก็นึกว่าจะพูดเรื่องอะไรดี นี้ก็นึกได้แต่อย่างนี้ ; นึกได้แต่ข้อความดังที่พูดไปแล้ว ว่านี้จะเป็น เรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นครู เหมือนกับอาตมา. อาตมาเป็นครู ท่านทั้งหลายก็เป็นครู แล้วก็พูดกันตรงไปตรงมา ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า วิญญาณของความเป็นครู มีอยู่อย่างนี้.
          *******
ปลายชอล์กจาก http://www.buddhadasa.org

Tuesday, November 29, 2011

วิญญาณของความเป็นครู

                     วิญญาณของความเป็นครู
              โดย พุทธทาสภิกขุ 

ตอน เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกกลายเป็นโลกที่ไม่มีศาสนาหรือไม่มีธรรมะ
        ดี๋ยวนี้คนทั้งโลกสนใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะน้อยลง จนกระทั่งไม่รู้จักธรรมะ จนกระทั่งมีศาสนาแต่เพียงเปลือก หรือพิธีรีตอง ซึ่งเราพูดได้ว่า โลกกำลังไม่มีศาสนา. นี่อย่าเข้าใจว่า โลกไม่มีโบสถ์ วิหาร วัดวา อาราม พระเจ้า พระสงฆ์ ; สิ่งที่พูดถึงนั้นมี, มีอยู่แล้ว ; แต่นั่นมันเปลือกของศาสนา. เนื้อแท้ของศาสนาคือธรรมะ ที่คนจะต้องประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่กาย ที่วาจา และที่ใจ. เปลือกก็มีความสำคัญ เพราะว่าเนื้ออยู่ไม่ได้โดยไม่มีเปลือก แต่ถ้ามีแต่เปลือกไม่มีเนื้อ แล้วก็ลองคิดดูเถอะว่า มันจะเป็นอย่างไร, จะกินเปลือกกันได้อย่างไร.
        กไม่มีศาสนา เพราะว่าคนเกลียดศาสนา รังเกียจทั้งโดยตรงทั้งโดยอ้อม, ไม่ปฏิบัติตามที่ศาสนาต้องการ ; จนมีคำล้อเกิดขึ้นมาว่า "สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู". ส่วนไหว้หรือทำพิธีรีตองนี้ก็ดูจะเก่งมาก หรือจะมากขึ้นเสียอีก ; แต่พอถึงทีที่จะต้องปฏิบัติตามนั้น มีอาการเหมือนกับอุดหู ไม่รู้ไม่ชี้ แกล้งไถลทำไก๋อะไรไปเสีย.
          โลกไม่มีศาสนา ! ที่เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเฉพาะพุทธศาสนา เป็นหมดทุกศาสนา ; เพราะว่าโลกทั้งโลก มันถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม หรือความเจริญอย่างแผนใหม่ คนในโลกกำลังหายใจเป็นวัตถุ แล้วก็บูชา วิชาเทคโนโลยี่ ที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ สำเร็จตามความต้องการในทางวัตถุ เขาบูชาเทคโนโลยี่แทนสิ่งที่เรียกว่าศาสนา. ศาสนาไม่มีวัตถุให้ เหมือนเทคโนโลยี่ ; ศาสนามีแต่ความรู้แจ้งในฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณให้. ส่วนคนไม่ต้องการ เพราะว่าเขาเห็นว่า ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ; ฉะนั้นจึงไม่พอใจ ไม่ชอบศาสนา ถือเป็นของทำให้เสียเวลา เป็นของครึคระ.

          แต่อย่างไรก็ดี ก็ทิ้งศาสนาเด็ดขาดไม่ได้ เพราะยังมีธรรมเนียม มีประเพณี ซึ่งมีอยู่ว่าจะต้องทำพิธีรีตองอย่างนั้น ๆ ; และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ความโง่ของคนเหล่านั้นยังไม่หมด เพราะว่า ยังมีความกลัวเหลืออยู่. พอปัญหาที่มันเกิดขึ้นทางจิตใจ เขาก็มีความกลัว ; ไม่มีอะไรช่วยได้ เขาก็จะเรียกหาศาสนา เรียกหาพระเจ้า เรียกหาพระธรรม. เพราะฉะนั้นในกองทัพที่กำลังรบกันอยู่ ก็มีพิธีรีตองทางศาสนา, ทำอย่างพิธีรีตองล้วน ๆ เหมือนกับเครื่องจักร หรือเหมือนกับหุ่นยนต์ ; แต่ในใจนั้น ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามพระเจ้า.

          ถ้าปฏิบัติตามพระเจ้า ก็ให้อภัยกันเสีย ไม่รบ ไม่รา ไม่ฆ่า ไม่ฟันกัน ; อย่าง พุทธศาสนาเราก็สอนให้ให้อภัย สอนให้ไม่เบียดเบียน, ศาสนาคริสเตียนก็สอนในทำนองว่า เขาตบแก้มซ้ายแล้ว ก็ให้เขาตบแก้มขวาด้วย, เขาพยายามจะเอาเสื้อของเรา ก็เอาผ้าห่มไปให้เขาเสียด้วย, เราไม่มีโกรธ ไม่มีจองเวร ไม่มีอะไร. แต่เดี๋ยวนี้ ในโลกเวลานี้ ไม่มีชาติไหนจะถือหลักอย่างนี้ ; นี่คือไม่ถือศาสนา ไม่ถือพระเจ้า. ฉะนั้น โดยเนื้อแท้ โดยจิต โดยวิญญาณ โลกนี้กำลังไม่มีศาสนา ไม่มีธรรมะในกาย วาจา ใจ มีแต่พิธีรีตอง.

          ที่พูดนี้ก็เพื่อจะชี้เพียงนิดเดียวว่า มนุษย์นี้หันหลังให้ศาสนา ให้ความไม่เป็นธรรม, หรือให้ความอยุติธรรมแก่ศาสนา. พอถึงทีจวนตัว เขาตาจนขึ้นมาก็เรียกหาศาสนา ; แต่แล้วก็ ไม่มีการปฏิบัติตามศาสนา ศาสนาไม่มีอยู่ในลักษณะที่เป็นตัวแท้ของศาสนา คือ มีอยู่เพียงพิธีรีตอง.

          นี่คือข้อที่จะต้องนึก นึกเห็นแล้วจะสังเวช ว่าคนกำลังไม่มีธรรมะมากขึ้น คนเบียดเบียนกันไปทั้งโลกนี้อย่างหนึ่ง. หรือพูดแคบเข้ามาก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนานั้น ช่วยให้มีคนดี ; ฟังดูให้ดีเถอะ ธรรมะช่วยให้มีคนดี. แต่เดี๋ยวนี้สิ่งต่าง ๆ หรือปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น เพราะโลกไม่มีคนดีที่เพียงพอแก่หน้าที่การงานนั้น ๆ ; แม้ในประเทศไทยเรานี่แหละ ที่แก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ไม่ได้ ทำไปไม่รอด ก็เพราะไม่มีคนดีมากพอ ที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ.

          ข้อนี้อย่าพูดกันให้มากนักเลย เดี๋ยวจะเป็นการกระทบกระเทือน ; เพราะว่าท่านทั้งหลายก็คงจะฟังออกหรือทราบอยู่แล้ว แม้โครงการจะดี แผนการจะดี เงินก็มีอะไรก็มี ; แต่ถ้าขาดคนดีแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร คือเอาไปโกง ไปทำอะไรกันเสียหมด. โครงการดี ถ้าไม่มีคนดี มันก็ใช้อะไรไม่ได้ ; ไม่มีคนสุจริต ไม่มีคนยุติธรรม. สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปในที่ไม่เป็นธรรม ก็คือทำให้เดือดร้อนและเบียดเบียนกัน. ถ้าเพียงแต่มีคนดีเท่านั้น อะไร ๆ ก็จะดีไปหมด : โครงการแผนการต่าง ๆ ทำได้ การบังคับบัญชาการปกครองก็จะดี ; เพราะมีคนดีที่ปฏิบัติได้ดี ได้จริง ได้ตรง มาเป็นลำดับ ๆ จนเป็นผู้เผด็จการได้.

          เดี๋ยวนี้เราไม่ยอมให้ใครเป็นผู้เผด็จการ ก็เพราะเราไม่เชื่อว่า เขาจะเป็นคนจริงคนตรง. เราชอบประชาธิปไตย แต่แล้วเมื่อหลายคนเป็นคนโลเล เหลาะแหละ หรือเป็นกันทั้งหมด ประชาธิปไตยก็โลเลเหลาะแหละ มันก็ใช้ไม่ได้ เผด็จการก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันขาดคนดี ; ถ้ามีคนดีเพียงอย่างเดียวแล้ว ยิ่งเผด็จการ ยิ่งดี ยิ่งเร็ว.

          เมื่อพระพุทธเจ้าท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นเผด็จการ ; ไปอ่านดูเถอะในพระบาลี จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นเผด็จการ ; เพราะฉะนั้น จึงทำสิ่งต่าง ๆ ไปได้โดยสะดวกและรวดเร็ว. แต่ เมื่อท่านจะปรินิพพาน ท่านกะแผนการล่วงหน้าไว้ว่า ถ้าปรินิพพานแล้ว ก็ต้องเป็นรูปประชาธิปไตย แล้วแต่สงฆ์ แล้วแต่หมู่แล้วแต่คณะ. ฉะนั้นถ้าคณะสงฆ์ดี สิ่งต่าง ๆ มันก็เป็นไปด้วยดี, ถ้าคณะสงฆ์เกิดไม่ดี มันก็ไม่ดี. ฉะนั้น จะรอดหรือไม่รอดนี้ มันอยู่ที่ว่าดีหรือไม่ดี. เมื่อเรามีคนดีสักคนหนึ่งเป็นผู้ระบุสิ่งต่าง ๆ ว่าคนนี้ควรฆ่าเสีย คนนี้ควรเอาไว้ ; มันก็วิเศษ เดี๋ยวนี้เราหาคนชนิดนั้นไม่ได้ แล้วเลยไม่ไว้ใจใคร จะตั้งใครให้เป็นคนเผด็จการอย่างนี้ มันก็ทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีคนดี.

          เราจึงควรจะมองเห็นประโยชน์ของธรรมะนี้ ว่าช่วยให้มีคนดี, มีธรรมะ แล้วสิ่งต่าง ๆ จะชั่วไม่ได้ จะเลวร้ายไม่ได้ จะเป็นไปแต่ในทางดี และโดยเร็ว. นี่พูดกันอย่างกว้าง ๆ ถึงคำว่าธรรมะ หรือประโยชน์ของธรรมะ และชี้ให้เห็นว่า เราจะต้องสนใจกับธรรมะ ตามสัดตามส่วนตามเวลาที่เรามี.

          ท่านทั้งหลายเป็นครู มาประชุมอบรมกันที่นี่ ก็ล้วนแต่เรื่องเทคนิคของครู ; อาตมาจะไม่พูดเรื่องเหล่านี้ จะเอามะพร้าวมาขายสอน ไม่มีประโยชน์อะไร ; จะพูดเรื่องที่ไม่มีใครพูด คือเรื่องธรรมะ แต่แล้วก็กลับเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ครูทุกคน. ถ้าครูขาดธรรมะ ครูไม่เป็นครู เป็นครูแต่ชื่อ เป็นครูแต่ปาก เป็นครูแต่เปลือก, ถ้ามีธรรมะ ครูก็จะเป็นครูโดยแท้จริง โดยเนื้อแท้ ; ฉะนั้นเรื่องที่จะพูดวันนี้ก็คือ เรื่องวิญญาณของความเป็นครู.

          คำว่า "วิญญาณ" มันก็มีความหมายกำกวม หมายถึงจิต ถึงวิญญาณ อย่างวิญญาณภูตผีปิศาจนั้นก็ได้ ; แต่คำว่า วิญญาณในที่นี้หมายถึงเนื้อแท้ เนื้อหาสาระ หัวใจของเรื่องก็ได้ หรือแปลว่า เจตนารมณ์ก็ได้. คำว่า วิญญาณในลักษณะอย่างนี้ ตรงกับคำว่า spirit เช่น sporting - spirit คือวิญญาณแห่งความเป็นนักกีฬา. คำว่าวิญญาณอย่างนี้ตรงกับคำว่า spirit. คำว่า spirit แปลว่าเหล้าก็ได้ แปลว่าจิตใจก็ได้ แปลว่าผีก็ได้ แปลว่าเจตนารมณ์ก็ได้.

          เมื่อพูดว่าวิญญาณของความเป็นครู นี้ก็หมายความว่าเจตนารมณ์ของความเป็นครู, เนื้อแท้ หัวใจของความเป็นครู, กล่าวก็คือพูดเรื่องครู ในแง่ที่เกี่ยวกับธรรมะ มีธรรมะก็เป็นครู ไม่มีธรรมะก็ไม่เป็นครู.

          ในข้อแรกก็อยากจะพูดโดยหัวข้อว่า ครูนี้คืออะไร ? เมื่อถามว่าครูคืออะไร ? มันก็เกี่ยวพันเนื่องไปถึงคำอื่น ๆ ซึ่งคล้ายกันหรือเนื่องกัน. ที่เราพูดกันติดปาก เช่นครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ พระศาสดาอย่างนี้เป็นต้น มีอยู่มากคำ ล้วนแต่เนื่องกับคำว่าครูทั้งนั้น ; แล้วยิ่งกว่านั้น ยังมีคำอื่น ๆ ที่เนื่องกัน ไกลออกไปไกลออกไป. คำว่าครูนี้ เป็นคำภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต นี้คำอื่น ๆ ก็ล้วนแต่เป็นคำบาลี หรือสันสกฤต อุปัชฌาย์ อาจารย์ ศาสดา กระทั่ง ฤาษี มุนี เรื่อยไป ที่จะขอโอกาสพูดตามสมควร.

          จะเริ่มมาแต่วงนอก เช่นคำว่า ฤาษี มุนี ดาบส นักสิทธิ์ วิทยาธร อะไรเหล่านี้ คือพวกที่ออกไปจากสังคมไปอยู่ในที่สงบสงัด คิดค้นวิชาความรู้. ขอให้เข้าใจว่า เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ความรู้อย่างที่มนุษย์มี ๆ เดี๋ยวนี้ ยังไม่มี ยังไม่มีอะไรเลย. เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ถ้าเราพูดก็ต้องเล็งถึงประเทศอินเดีย ที่เป็นต้นตอของวัฒนธรรมเหล่านี้. วัฒนธรรมไทยหรือศาสนาพุทธเรารับมาจากอินเดีย ; ฉะนั้นจึงไปรวมอยู่ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีอายุหลายพันปีมาแล้ว. คนที่เขาเบื่อความเป็นอยู่อย่างซ้ำซาก ของความเป็นชาวบ้านนี้ เขาคิดว่ามันควรจะมีอะไรดีกว่าที่เป็น ๆ กันอยู่อย่างชาวบ้านนี้ ฉะนั้นจะต้องออกไปแสวงหา จึงไปสู่ที่สงัด คือป่า ถ้ำ ภูเขา ไกลสังคมออกไป เพื่อไปแสวงหา.

          ผู้แสวงหา เขาเรียกในภาษาบาลีก็คือว่า อิสิ หรือภาษาสันสกฤตก็คือคำว่า ฤษิ (ออกเสียงว่า ริชิ) เหมือนเราใช้คำว่า ฤาษี ในภาษาไทย. คำว่า ฤาษี นี้แปลว่าผู้แสวงหา, ถ้าเป็นคำบาลีก็ อิสิ หรือสันสกฤต ก็เป็นฤษี. ผู้ใดออกไปแสวงหาความจริง ความลับอะไรอย่างยิ่ง ในป่า ในที่สงบสงัด ค้นคว้าเป็นพิเศษนั้น เรียกฤาษีทั้งนั้น. ใครก็ได้ แม้พระพุทธเจ้าของเราก็ออกบวชในลักษณะฤาษี คือผู้ออกไปค้นคว้า.

          เรานึกถึงคนแรกที่สุด ที่ออกจากสังคมไปทำการค้นคว้าในป่า ค้นคว้าเรื่องที่สูงไปกว่าที่ชาวบ้านนี้รู้ ๆ กันอยู่ นั่นคือฤาษี ; ฤาษีนี้ยังไม่ใช่ครู เพราะว่าฤาษีรุ่นแรก ชุดแรก ยุคแรก ไม่สอน. พบอะไรบ้าง พบความจริงอะไรบ้างก็ประพันธ์ เป็นคำประพันธ์ ที่เรียกว่าคาถา. คำว่าคาถานี้ที่แท้คือประพันธ์ ตรงกับคำประพันธ์ เดี๋ยวนี้คือเป็นคำกลอน. ฤาษีเหล่านี้จะผูกความรู้ขึ้นเป็นคำกลอน แล้วท่องไว้ เพราะไม่มีกระดาษจด ไม่มีดินสอจะเขียน หรือจะสลักหินหรืออะไรไม่มีทั้งนั้น. การที่จะจำได้ก็จะต้องประพันธ์ขึ้นเป็นคำกลอน พูดให้เป็นคำกลอน, แล้วตัวเองก็ท่องไว้ มันง่ายกว่าที่จะท่องคำร้อยแก้ว.

          เมื่อฤาษีนั้นทำไปนานเข้า ๆ ก็มีคำกลอนหรือคาถาที่จำไว้ได้มาก หลายคาถา หลายโศลก ; ต่อเมื่อ มีคนไปพบ ไปเจอ ไปติดต่อด้วย อยากจะได้ ท่านจึง บอกคาถานี้ให้บ้าง แต่ไม่ใช่ด้วยเจตนาจะเป็นครู. ต่อมามันก็มากเข้า ๆ สิ่งที่เรียกว่าคาถานี้ คนก็ได้รับมาในฐานะที่เรียกว่ามนต์ เขาเรียกยุคนั้นว่า เป็นยุคมนต์ ได้รับคาถาจากฤาษีมาโดยไม่รู้ความหมายอะไรนัก ก็เกิดต้องการคนอธิบาย จึง มีผู้ให้ความหมายเป็นคำอธิบายขึ้นมาอีกพวกหนึ่ง เป็นยุคพราหมณะ คืออธิบายคาถา หรือสูตรต่าง ๆ ของพวกฤาษี. นี่ความรู้มันจึงค่อยเกิดขึ้น ๆ และมีทุกแขนงทุกวิชา.

          ทีแรกก็ตั้งปัญหาว่า อะไรดี ? อะไรดีกว่า ? อะไรดีที่สุด ? แล้วฤาษีก็ไปค้นให้พบว่า อะไรดี ? อะไรดีกว่า อะไรดีที่สุด ? ในด้านการเป็นอยู่ การประพฤติ การกระทำ การอะไรก็ตาม พบอะไรก็ผูกเป็นคาถาไว้เสมอ. กาลต่อมาพร่าออกไปจนถึงเรื่องโลก เรื่องชาวบ้าน, แม้ที่สุดแต่เรื่องกิจกรรมระหว่างเพศ ฤาษีก็พยายามค้นและก็ได้ผูกเป็นคาถา เป็นสูตร เป็นอะไรด้วยเหมือนกัน สืบต่อกันลงมาอย่างนี้. นี้เรียกได้ว่าพวกฤาษี ยังไม่ได้เป็นครูโดยตรง ; แต่จะเห็นได้ว่า ฤาษี เป็นต้นกำเนิดของครู.

          ส่วนที่เรียกว่า มุนี ดาบส อะไรต่อไปนี้ เป็นเพียงความหมายแขนงหนึ่ง ๆ คำว่า มุนี ก็แปลว่า ผู้รู้ เมื่อฤาษีเป็นผู้รู้ ฤาษีก็ได้ชื่อว่ามุนี. ดาบส แปลว่า ผู้ทำตบะ คือทำความเพียรอย่างแรงกล้า ก็เรียกว่าดาบส. ฤาษีก็เป็นผู้ทำความเพียร ทำตบะอย่างแรงกล้า เพราะฉะนั้น ฤาษีก็ได้ชื่อว่าเป็นดาบส. มีคำว่า สิทธา และคำว่า นักสิทธิ์ นี้ก็แปลว่า ผู้ประสบความสำเร็จ. ฤาษีพวกนี้ก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่าสิทธา หรือนักสิทธิ์ หรืออะไรต่าง ๆ

          ทีนี้ ยังมีคำอื่น ๆ ที่รองลงไป รองลงไป อีกมากมายหลายคำ กระทั่งถึงคำว่า วิทยาธร ซึ่งเป็นคำโบราณมาแต่เดิมเหมือนกัน ; วิทยาธร ก็แปลว่า ผู้ทรงวิทยา แต่ก็ไม่ใช่ครู. พวกวิทยาธร, เพทยาธร อะไรพวกนั้นเป็นผีเจ้าชู้ เป็นเทวดาเจ้าชู้มากกว่า ลองฟังดูซิ วิทยา แปลว่า ความรู้ ธร แปลว่า ทรงไว้ ทรงไว้ซึ่งความรู้ ; แต่พวกเทพยาธรกลายเป็นพวกผีเจ้าชู้ พวกเทวดาเจ้าชู้ ไม่มีความหมายว่าครูเหมือนพวกเราซึ่งมีวิชาความรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้. ฉะนั้น ระวังคำว่าวิทยาธร วิทยาอะไรเหล่านี้ไว้บ้าง ; ไปอ่านเรื่องวิทยาธร แล้วจะพบว่า มีการกระทำอย่างเจ้าชู้ เป็นผีบ้าง เป็นเทวดาบ้าง ก็ไม่ใช่กำเนิดของครู. ถ้ามองดูกัน ก็จะพบว่าพวกมุนี ฤาษีนี้ จะพอเป็นต้นกำเนิดของครู ; แต่ยังไม่ใช่ครู เพราะยังไม่ทำหน้าที่สอนผู้อื่นโดยตรง หรือเป็นอาชีพ ก็เลยเรียกฤาษี มุนี ดาบส นักพรต อะไรไปตามเรื่อง.

          ต่อมาสิ่งต่าง ๆ มันเป็นรูปเป็นร่างดีขึ้น จนมีผู้รับสอนรับแก้ปัญหา คือตอบคำถามในเรื่องนี้โดยตรง เหมือนกับเป็นสถาบัน ที่รับตอบปัญหาทางด้านจิต ด้านวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องทำมาหากิน ไม่ใช่เรื่องสอนหนังสือ แต่เป็นเรื่องไขปัญหาทางจิต ทางวิญญาณ เป็นผู้นำในทางวิญญาณ. บุคคลประเภทนี้คือบุคคลที่เรียกว่าคุรุ หรือครู ในภาษาไทย. ดิคชั่นนารีภาษาสันสกฤตที่เป็นชั้นมาตรฐานทุกเล่มจะ แปลคำว่าครูนี้ว่า spiritual guide คือเป็น GUIDE ในทางวิญญาณ. ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างพวกเรา หรือสอนวิชาชีพอย่างพวกเรา. นี่คำเดิมของเขาเป็นอย่างนี้. ต่อเมื่อถูกยืมมาใช้ในภาษาไทยใหม่ ๆ หยก ๆ นี้ จึงเปลี่ยนความหมายเป็นสอนหนังสือ, สอนวิชาชีพ ; โดยเนื้อแท้ดั้งเดิมเป็นผู้นำในทางวิญญาณ.

          คำว่า อุปัชฌาย์ เสียอีก เป็นครูสอนอาชีพ ; คำว่า ครู แปลว่า หนัก หนัก มีบุญคุณ มีคุณค่า มีความหมาย. อาตมาอยากจะพูดคำว่า "หนัก" คือมีบุญคุณอยู่เหนือศีรษะคนทุกคน สำหรับคำว่าครู. อุปัชฌาย์ ตัวหนังสือแปลว่า ผู้ที่ใคร ๆ ควรจะเข้าไปเพ่งเล็ง ; แต่ความหมายที่เห็นอยู่ในภาษาสันสกฤตนั้น แปลเป็นครูสอนวิชาชีพ วิชาชีพอะไรก็ได้ เช่นวิชาดนตรีนี้ ผู้สอนดนตรีก็เรียกว่าอุปัชฌาย์.

          ลองไปเปิดหนังสือ อย่างหนังสือปรียทรรศิกา ที่เป็นหนังสือสันสกฤตบทละครนั้น จะพบคำว่า อุวชฺฌาโอ อุปัชฌาย์นี้ ชาวบ้านเรียก อุวชฺฌาโอ สอนดีดพิณนั้นเป็นภาษาปรากฤต. ขอเทียบให้ฟังว่า ถ้าเป็นภาษาปรากฤต คือภาษากลางบ้านนี้ อุวชฺฌาโอ, ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ อุปชฺฌาโย, ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตว่า อุปาธฺยาโย เสียงมันออกไปต่าง ๆ กันตามหลักของภาษา ; แต่คำ ๆ เดียวกัน. ภาษาปรากฤต ภาษาชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา นี้ว่า อุวชฺฌาโอ คือคำว่า อุปัชฌาโย อุปัชฌาย์.

          อุปัชฌาย์ นี้คือครูสอนอาชีพ, หรือผู้สอนอาชีพที่ทุกคนจะต้องเข้าไปเพ่งเล็งเลือกให้เหมาะกับอาชีพของตนของ ตน ; เดี๋ยวนี้ พอมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นพระอุปัชฌายะ ผู้ให้บรรพชาอุปสมบท นั้นเป็นอาชีพของสมณะ. อาจจะไม่เคยได้ยินกระมัง อยากจะบอกให้ทราบว่า มีคำว่าอาชีพ สิกขาสาชีพ อย่างภิกษุทั้งหลายนี่. คำว่า อาชีพ นี้ มันแปลไม่ใช่เหมือนกับที่ว่าทำมาหากิน ; เป็นแบบแห่งการดำเนินชีวิตอยู่ ให้รอดอยู่ได้ไม่ตายเท่านั้น. การเป็นภิกษุก็จัดเป็นอาชีพชนิดหนึ่ง : สิกขาและสาชีพอย่างภิกษุ. เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าอุปัชฌาย์กันในความหมายเพียงอุปัชฌาย์บวชนาค ไม่ได้ใช้ในความหมายเดิมบรมโบราณ ที่ว่าเป็นครูสอนอาชีพ.

          ทีนี้ มาถึงคำว่า อาจารย์, อาจาระ แปลว่า มารยาท ; อาจริยะ แปลว่า ผู้ช่วยฝึกมรรยาท นี่ก็คือครูสอนจริยศึกษา. ต้องมีผู้เป็นอาจารย์ เพราะเรามีแต่ความรู้ความสามารถอย่างอื่น แต่ไม่มีอาจาระหรือมรรยาทที่ดี นั้นเป็นไปไม่ได้ เป็นคนไปไม่ได้ ; นี้คือ อาจารย์สำหรับหน้าที่ฝึกมรรยาท.

          ไกลออกไปถึงคำว่า ศาสดา สัตถา ในบาลี, ภาษาไทยก็ว่า ศาสดา ; พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา. คำนี้ถ้าแปลตามตัวหนังสือโดยตรงก็ว่า ผู้ให้ซึ่งศาสตร์ ศาสตระ. คำว่า ศาสตร์ นี้แปลว่า อาวุธ สัตถ หรือ ศาสตร ก็ตาม แปลว่า อาวุธ ทางนามธรรมหมายถึงปัญญา วิชาในชั้นสูงก็เรียกว่าศาสตร์.

          พระศาสดา หรือสัตถา นี่คือผู้ให้ศาสตร์ หรือให้อาวุธ หมายถึงวิชาที่จะตัดกิเลส ; แต่ก็มีคำว่า ศาสตร์ ในความหมายอย่างอื่น เช่น คชศาสตร์ อะไรศาสตร์ ล้วนแต่ศาสตร์ ๆ อยู่มากมาย ; ความหมายก็อย่างเดียวกัน คือในฐานะที่เป็นอาวุธสำหรับใช้แก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้สอนอย่างนี้เรียกว่าสัตถา หรือศาสดา.

          เดี๋ยวนี้ ในภาษาไทยเรามีคำที่เข้าทีอยู่ว่า ศาสตราจารย์ คำนั้นเข้าที แต่ว่าจะปฏิบัติให้ตรงตามความหมายของคำหรือไม่นั้น ไปดูเอาเองก็แล้วกัน.

          คำว่าศาสดาก็แปลว่าผู้ให้ศาสตร์ ศาสตร์ คือ อาวุธ ให้ความรู้ชั้นสูงสำหรับตัดปัญหาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้ เราใช้คำว่าศาสดากัน แต่พระพุทธเจ้า หรือผู้ที่ตั้งพระศาสนา ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น.

          ที่เอามาพูดให้ฟังนี้ ก็เพื่อว่าจะได้ค้นดูที ว่า วิญญาณของความเป็นครูอยู่ที่ไหน ? คำว่า ครูแท้ ๆ ก็คือ ผู้นำในทางวิญญาณ. คำว่าอุปัชฌาย์ แปลว่า ผู้ที่ควรเข้าไปเพ่ง เพื่อรู้วิชาชีพ. คำว่า อาจารย์ ก็ผู้ฝึกมรรยาท คำว่า ศาสดา ก็ผู้ให้ความรู้ชนิดเป็นศาสตร์ เช่นพุทธศาสตร์ อย่างนี้เป็นต้น.

          ทีนี้ คำว่า ครู มีความหมายอะไรอยู่ที่ตรงไหน ? ความหมายคงจะรวมไว้ได้หมด, ถ้าเรา เอาความหมายของคำว่าครูอย่างเดี๋ยวนี้ สอนพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา หัตถศึกษา อะไรต่าง ๆ ; แต่ความหมายที่สูงสุด หรือเป็นวิญญาณเป็น spirit นั้น ไม่พ้นไปจากคำเดิมของคำว่าคุรุ หรือครู คือผู้นำในทางวิญญาณ. แม้เราจะสอนหนังสือเด็ก ก็ขอให้สอนไปในลักษณะที่ว่า ให้วิญญาณของเด็กสว่างไสวแจ่มแจ้งเจริญงอกงามขึ้น, ถ้าเราทำหน้าที่นี้ถูกต้องจะไม่มีเด็กชกต่อยกันในสนามกีฬา หรือขว้างระเบิดขวด. ที่ขว้างระเบิดขวดหรืออะไรนั่น เพราะวิญญาณไม่สูง วิญญาณมันต่ำ ยิ่งเรียนรู้มากวิชาเข้า วิญญาณยิ่งต่ำ ฉะนั้น จึงมีทำถึงขนาดนั้น แม้ในชั้นโรงเรียนชั้นสูง ชั้นมหาวิทยาลัย ชั้นอะไรต่าง ๆ.

          นี่อยากจะพูดว่า เดี๋ยวนี้ ครูไม่ได้ทำหน้าที่ของครู ; หรือทำหน้าที่แต่เพียงเปลือก หรือตัวหนังสือ : หมายความว่าสอนตะบันไปในเรื่องวิชา วิชาชีพ วิชาอะไรก็ตาม ; แต่ไม่ได้ยกวิญญาณให้สูงขึ้น. นี่ขอให้ดูความสำคัญของคำว่าครู ถ้าครูยังมีอยู่ในโลกนี้ ในประเทศไทยเรานี้ อันตรายชนิดอย่างที่ว่านี้ จะไม่เกิดขึ้น.

          นี่พูดมาถึงขนาดนี้ บางคนจะรู้สึกว่าอาตมาด่าแล้ว หรือพูดกระทบกระเทียบแล้ว ; ก็ไม่เป็นไร เพราะ ต้องการจะพูดเพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน หรือแก่ประเทศชาติ ว่าเรากำลังขาดบุคคลที่เป็นครูที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ ของคำ ๆ นี้. เราอาจจะมีครูเป็นหมื่นเป็นแสนก็ได้ ในที่สุด แต่ต้องวัดผลกันด้วยข้อที่ว่า วิญญาณของเด็กสูงขึ้นหรือไม่ ? ถ้าวิญญาณของเด็กยังไม่สูง ก็ยังขาดครูตามอุดมคติของพุทธศาสนา. หรือแม้แต่คำของคำบาลีคำนี้ ว่าผู้นำในทางวิญญาณ.

          แล้วที่พูดนี้ มิใช่พูดเฉพาะประเทศไทยเรา พูดทั้งโลก, แล้วประเทศอื่น อาจจะร้ายยิ่งกว่าประเทศไทยเรา ในการที่ไม่มีครู. บางประเทศยิ่งเรียนไปก็ยิ่งเหมาะสมสำหรับจะไปเป็นฮิปปี้ อย่างนี้ก็ไม่ต้องอธิบาย เพราะว่าอ่านข่าวอ่านคราวรู้กันอยู่หมดแล้ว ยิ่งเรียนมากขึ้นไปเท่าไร ก็ยิ่งเหมาะสำหรับจะไปเป็นฮิปปี้ ; แล้วโรคระบาดนี้กำลังจะเข้ามาในเมืองไทย. ถ้าวิญญาณของครูมีไม่พอ ต้านทานไม่อยู่แล้ว ประเทศไทยก็จะเหมือนกับประเทศที่เต็มไปด้วยฮิปปี้ ไม่ต้องสงสัย ; เพราะการยกสถานะทางวิญญาณมันไม่มี, หรือมีไม่พอ.

          ขอให้นึกถึงคำ คำนี้ว่า "ครู" นี้ มีความหมายอย่างไร ? มีความหมายสำคัญ ๆ อยู่ที่ว่า ยกสถานะทางวิญญาณให้สูงขึ้น นั่นคือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ; แล้วสิ่งที่เป็นอุปัทวอันตรายอะไรต่าง ๆ ก็ไม่มี. ถ้าสิ่งที่ยังเป็นอุปัทวะต่าง ๆ ยังมีอยู่ก็หมายความว่า เรายังไม่มีธรรมะ ในเรื่องของความเป็นครูสมบูรณ์นั่นเอง.
******* 
ปลายชอล์กจาก http://www.buddhadasa.org

บรมครู

  พระพุทธเจ้าบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของมนุษย์และเทวดา
      รูเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นบุคคลที่คอย สั่งสอน แนะนำ ช่วยบอกทาง รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ชื่อว่าเป็นบรมครูที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะด้านการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ พุทธองค์กล่าวว่า บุคคลในโลกมีหลายจำพวก มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจแตกต่างกัน เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า เป็นการกำหนดระดับของผู้เรียน คือ หนึ่ง พวกที่มีปัญญาฉลาดเปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที สอง พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง ได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป สาม พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง และสี่ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของสัตว์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงสอนธรรมะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก 
          สื่อที่ทรงใช้ คื่อสื่อบุคคล และใช้ระบบเครื่อข่ายยิ่งสร้างเครือข่ายที่มั่นคงเท่าธรรมะที่ทรงสั่งสอนก็ไปเกิดขึ้นในใจของผู้ได้รับได้นำไปปฎิบัติเท่านั้น รูปแบบของระบบเครือข่ายจึงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลนานมาแล้ว
          สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในพุทธวิธีการสอนของพระองค์ คือ เทคนิคการสอนที่อาศัยอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติประกอบการอธิบาย ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันเรียกว่าสื่อประกอบการสอนนั่นเอง หากวิเคราะห์เนื้อหาวิชาที่พระพุทธองค์ทรงสอน โดยเฉพาะวิชาทางธรรมเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก อีกทั้งยังเป็นสัจธรรมที่แปลกใหม่ ต้องต่อสู้กับลัทธิความเชื่อของคนในสมัยนั้นให้มีความเข้าใจใหม่ว่า กรรมคือเครื่องกำหนดการกระทำของบุคคล บุคคลไม่สามารถลบล้างสิ่งที่ตนกระทำได้จากน้ำหรือการทรมานร่างกายตน บุคคลจะดีร้ายย่อมขึ้นอยู่ที่กรรมหรือการกระทำเป็นตัวกำหนด เหล่านี้คือสิ่งท้าทายที่พุทธองค์ได้กระทำ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระองค์ทรงเป็นบรมครูเอกของโลก ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องสื่อหรืออุปกรณ์การสอนที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในอดีต จึงควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ขอยกตัวอย่างสื่อที่ทรงใช้ในสมัยพุทธกาลดังนี้
          ในช่วงแรกแห่งการตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมสอนพวกชฎิล ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิหนึ่งที่นับถือบูชาไฟ พระองค์ก็ทรงใช้ไฟที่พวกชฎิลนับถือเป็นสื่อ แต่ทรงเปลี่ยนเป็นไฟภายใน คือ ไฟราคะ ไฟโทสะไฟโมหะ เมื่อจบการเทศนาอดีตนักบวชชฎิลได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นอกจากนี้ยังมีสื่อที่เป็นรูปธรรมคือ การใช้สิ่งของที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นสื่อ บางครั้งทรงใช้ปรากฏการณ์ที่ผ่านเข้ามา ดังเช่น ในช่วงฤดูฝนพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าพักจำพรรษาที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี ทรงใช้เมฆฝนประกอบการสอนภิกษุทั้งหลายว่า
          บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ 4 จำพวกนี้ที่ปรากฏอยู่ในโลก คือ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดแต่ไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตกแต่ไม่คำราม คือบุคคล บางคนในโลกนี้ชอบทำแต่ไม่พูด บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ที่ไม่พูดและไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูด และชอบทำ
          นอกจากนี้ในบางเวลาเมื่อพระองค์กับพระสาวกทั้งหลายพักตามใต้ร่มไม้ในป่า ก็ทรงใช้สื่อใกล้ตัวและมีอยู่ล้อมรอบเช่น ใบไม้เป็นสื่อประกอบการสอน เช่นคราวหนึ่งทรงประทับอยู่ที่ป่าไม้ประดู่ลาย ทรงหยิบใบประดู่ลายขึ้นมากำไว้ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ใบไม้ในกำมือของพระองค์กับใบไม้ที่อยู่บนต้น อย่างไหนมากกว่ากัน” ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลว่า “ใบไม้บนต้นมากกว่าที่ทรงกำไว้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” จากนั้น จึงทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สิ่งที่พระองค์รู้ แต่มิได้สอนนั้นมีอีกมาก เหมือนใบไม้บนต้นไม้ ที่ไม่สอนเพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ที่นำมาสอนเท่ากับใบไม้ในกำมือ คือ สอนเรื่องทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ” อันจะเป็นประโยชน์ต่อมหาชนเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร โลกนี้เที่ยงหรือ ไม่เที่ยง จัดว่าเป็นอัพยากตปัญหา อันเป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ด้วยว่าเป็นความรู้ที่ไม่นำไปสู่หนทางที่จะพ้นทุกข์ได้ เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงใช้สื่อประกอบการสอนพุทธบริษัทยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่นำเสนอนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ในสมัยพุทธกาล ยังไม่มีอุปกรณ์การสอนชนิดต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นไว้เพื่อการสอนโดยเฉพาะเหมือนสมัยปัจจุบัน หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็คงต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึง พระอัจฉริยภาพด้านการใช้สื่อการสอน เพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจในเนื้อหาธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้นและเวลาที่จะทรงไปสอนใครก็กำหนดวิธีการ วิเคราะห์ประวัติ สื่อที่ทรงนำไปสอน เป็นการวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล ควรคู่แล้วกับการขนานพระนามว่า พระพุทธเจ้าบรมครูเอกของโลกโดยแท้

       และที่สำคัญสิ่งที่พระองค์รู้ จะมอบให้แก่เหล่าสาวกไปเผยแผ่แก่ชาวโลกโดยไม่คิดปิดบัง  และแสดงความเป็นเจ้าของของสิ่งที่พระองค์พบ  และไม่เคยมีการจดลิขสิทธิ์เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิ่งที่พบ เหมือนที่มนุษย์โลกปัจจุบันนี้กระทำกัน  และบรรดาเหล่าสาวก เหล่าพุทธบริษัทที่รู้ธรรมะที่ตามพระองค์ก็สามารถนำนำไปเผยแผ่ต่อไป โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนอย่างที่เราทำกันในปัจุบัน 
      สิ่งที่พระองค์มุ่งหวังให้เกิด คือ รู้ตามที่พระองค์รู้
******* 
บูชาครูจาก http://www.uniserv.buu.ac.th