Monday, December 19, 2011

นำนิทาน ปลูกฝังคุณธรรมนักเรียน

          นิทาน กับการปลูกฝังคุณธรรมนักเรียน

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
        กระทรวงศึกษากำหนดคุณธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียน นักศึกษา รวม 8 ประการ ประกอบด้วย 1.มีวินัย 2.มีน้ำใจ 3.ซื่อสัตย์ 4.ขยัน 5.ประหยัด 6.สุภาพ 7.สะอาด และ 8.สามัคคี นอกจากนี้ ยังให้มีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง รวมเป็นคุณธรรม 11 ประการ และ ได้จัดทำโครงการสร้างเสริมคุณธรรมโดยยึดแนวทางหลัก 4 ประการ คือ  
        1) สร้างสังคมสมานฉันท์ ให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้
        2) อยู่อย่างสันติวิธี มีความสุขเอื้ออาทร
        3) ปฏิบัติตามวิถีประชาธิปไตย เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
        4) ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้ชีวิตที่สมดุล
        ในการจัดการเรืียนรู้ให้นักเรียนรู้จัก และสมารถนำไปใช้ในขีวิตได้นั้น เป็นหน้าที่ของครูที่คิดวางแผนในการอบรมสั่งสอนสร้างเสริมคุณธรรมด้วยนิทานจึงได้เกิดขึ้น และการนำนิทานก่อนนำเข้าสู่บทเรียนเป็นหนทางหนึ่ง โ เพราะนิทานเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดมาแต่โบราณ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพาเด็กไปสู่โลกกว้างของการเรียนรู้ชีวิตจริง เป็นตัวบ่มเพาะทางศีลธรรม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นต้นแบบที่ดีงามตามวิธีคิดแบบไทยๆ จนทำให้เกิดการค้นหา 80 นิทาน สร้างสรรค์คุณธรรม โดยมุ่งหวังว่านิทานจะคืนคุณธรรมให้แก่แผ่นดิน

          
คณะกรรมการ ได้คัดสรรจากนิทานที่มีคุณสมบัติในอันที่จะสร้างความประทับใจและกินใจ ให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากปฏิบัติตาม จึงถือเป็นสายพานแห่งคุณธรรมตามที่ต้องการ และต่อไปนี้คือตัวอย่างนิทาน 11 เรื่องที่ผ่านการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งตรงกับการสร้างคุณธรรม 11 ประการดังกล่าว มีนิทานเรื่องไหนบ้าง

           1. คติธรรม การรักษาวินัย จากนิทาน *เรื่องจันทโครพ* : จัน ทโครพเจ้าชายเมืองพาราณสีออกแสวงหาพระอาจารย์ และได้เรียนรู้จนสำเร็จวิชาอันแกร่งกล้า จึงเดินทางกลับเมือง ในระหว่างทางพระองค์ได้เปิดผอบที่พระอาจารย์มอบให้นำกลับเมืองและกำชับให้ เปิดเมื่อถึงเมืองแล้ว แต่จันทโครพไม่รักษาวินัย รักษาคำมั่นที่ให้ไว้ เมื่อผอบเปิดจันทโครพได้พบกับนางโมราสาวงาม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้พระองค์ต้องตายเพราะมือโจรในที่สุด
*คติเตือนใจคือ* ควรรู้จักยับยั้งความอยากรู้อยากเห็น มีวินัยต่อตนเอง ช่วยไม่ให้เกิดภัยพิบัติได้

           2. คติธรรม ความมีน้ำใจ จากนิทาน *เรื่องชาวนากับงูเห่า* : ใน เช้าของฤดูหนาววันหนึ่ง ชาวนาผู้หนึ่งเดินออกจากบ้านไปทุ่งนา ระหว่างทางเห็นงูเห่าตัวหนึ่งนอนขดตัวอยู่ เกิดความรู้สึกสงสาร จึงเก็บงูตัวนั้นมากอดไว้ในอ้อมแขน เมื่องูรู้สึกอบอุ่นก็เคลื่อนไหวและฉกกัดชาวนาด้วยเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ชาวนาจึงสิ้นใจตาย *คติเตือนใจคือ* ความมีน้ำใจเป็นสิ่งดี หากทำคุณกับคนชั่วมีแต่จะได้รับความเดือดร้อน
           3. คติธรรม ความซื่อสัตย์ จากนิทาน *เรื่องคนตัดไม้กับเทพารักษ์* : คน ตัดไม้คนหนึ่งนั่งร้องไห้ อยู่ริมลำธาร เพราะทำขวานของตนเองตกลงไปในน้ำ เทพารักษ์สงสารจึงปรากฏกายช่วยเหลือ โดยครั้งแรกงมขวานทองคำ ครั้งที่สองงมขวานเงินขึ้นมาให้ คนตัดไม้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์จึงปฏิเสธว่า ไม่ใช่ขวานของตน จนเทพารักษ์งมขวานเหล็กขึ้นมา เขาจึงยอมรับ เทพารักษ์ตอบแทนความซื่อสัตย์ด้วยการมอบขวานทองคำและเงินให้ด้วย เพื่อนบ้านคนหนึ่งทราบเรื่อง เกิดความละโมบ จึงไปที่ลำธารและทำขวานหล่น แต่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ ทำให้เขาไม่ได้ขวานคืนแม้กระทั่งขวานของตนเอง *คติเตือนใจคือ* จงซื่อสัตย์และจงพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ไม่โลภมาก

           4. คติธรรม ความขยัน จากนิทาน *เรื่องขุมทรัพย์ในไร่องุ่น* : ที่ไร่องุ่นแห่งหนึ่ง มีพ่อผู้สูงอายุกับลูกชายจอมขี้เกียจ 3 คนอาศัยอยู่ ต่อมาพ่อล้มป่วยลงและก่อนที่แกใกล้จะสิ้นลมหายใจ ได้เรียกลูกชายทั้ง 3 มา สั่งเสียว่า อย่าขายที่ดิน เพราะพ่อได้ซ่อนขุมทรัพย์มหาศาลเอาไว้ ให้ขุดดินพรวนดิน ขุดหาให้ทั่วทุกตารางนิ้วของไร่ เมื่อพ่อได้สิ้นใจตายลงไปแล้ว ลูกชายทั้ง 3 ก็ลงมือ และตั้งหน้าตั้งตาไถคราดพรวนดิน พวกเขาก็ไม่พบแม้แต่เศษเงินอย่างที่พ่อได้บอกไว้ หนึ่งปีผ่านไปไร่องุ่นที่พวกเข้าตั้งหน้าตั้งตาขุดพรวนดินเพื่อหาขุมทรัพย์ นั้นกลับเกิดผล ออกดอกออกผลออกมา และเมื่อเป็นเช่นนั้นลูกชายทั้ง 3 จึง หันมาช่วยกันนำผลองุ่นเหล่านั้นออกขาย และพวกเขารู้ว่าขุมทรัพย์ที่พ่อพูดถึงนั้น หมายถึงการทำงานหนัก ขยันขันแข็ง เอาหยาดเหงื่อแรงงานเข้าแลกในที่ดินที่พ่อของพวกเขาได้ทิ้งไว้ให้มากกว่า นั่นเอง
*คติเตือนใจคือ* ความขยันทำให้ทำงานสำเร็จ
           5. คติธรรม การประหยัด จากนิทาน *เรื่องคนขี้เหนียวกับทองคำ* : เศรษฐี คนหนึ่งเป็นคนขี้เหนียว เขามักนำทรัพย์สมบัติฝังดินไว้รอบบ้าน ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยความกลัวคนขโมย ต่อมาเขาจึงได้นำทรัพย์สมบัติไปขายแล้วซื้อเป็นทองคำได้หนึ่งแท่ง นำมาฝังไว้หลังบ้าน เฝ้าดูทุกวัน คนใช้เห็นจึงแอบดูและขโมยไป เศรษฐีต้องเสียใจเพราะเสียทรัพย์ที่ตนเก็บเอาไว้ *คติเตือนใจคือ* การมีทรัพย์และประหยัดออมทรัพย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้จักประมาณการใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ด้วย

           6. คติธรรม ความสุภาพ จากนิทาน *เรื่องพิกุลทอง* : หญิงหม้ายคนหนึ่งมีลูกสาว 2 คน คนโตชื่อ มะลิ คนที่สองชื่อพิกุล หญิงหม้ายนั้นรักมะลิมาก เพราะมีรูปร่างหน้าตาและนิสัยเหมือนนาง ส่วนพิกุลเป็นหญิงสาวที่มีหน้าตาสะสวย กิริยามารยาทดี พูดจาไพเราะและน้ำใจงาม พิกุลต้องทำงานหนักเนื่องจากความลำเอียงของมารดา แต่ด้วยความมีน้ำใจต่อคนอื่น ทำให้พิกุลได้รับพรจากรุกขเทวดาให้มีดอกพิกุลทองร่วงออกมาจากปากทุกครั้งที่ พูด หญิงหม้ายมีความละโมบได้บีบคั้นให้พิกุลทองพูดเพื่อเอาทองคำ และให้มะลิไปขอพรรุกขเทวดา แต่มะลิมีนิสัยหยาบช้าจึงได้รับผลตรงกันข้ามกับพิกุล พิกุลถูกมารดาทำร้ายต้องหนีออกจากบ้าน ได้พบกับเจ้าชายรูปงามและครองคู่กันต่อมาอย่างมีความสุข *คติเตือนใจคือ* ความมีน้ำใจและความสุภาพเป็นเครื่องผูกมิตรต่อผู้อื่น


           7. คติธรรม ความสะอาด จากนิทาน *เรื่องนางอุทัยเทวี* : อุทัย เทวีเป็นธิดาของรุกขเทวดาและนางนาค นางต้องพลัดมาอยู่บนโลกมนุษย์ จึงปกป้องตนเองด้วยการอาศัยอยู่ในร่างของคางคก ต่อมาตายายได้มาพบ นางจึงขอไปอาศัยอยู่ด้วย อุทัยเทวีช่วยเหลือตอบแทนตายายที่เลี้ยงดูตนเองโดยออกมาจากร่างคางคก และทำงานต่างๆ ในบ้าน จนบ้านเรือนสะอาดเรียบร้อย อุทัยเทวีเติบโตเป็นสาวสวยงาม เจ้าชายสุทราชกุมารได้พบกับนางก็หลงรัก และให้พระราชบิดามาสู่ขอ ตายายได้ขอให้สร้างสะพานทองจากพระราชวังมาถึงบ้าน ทำให้พระราชากริ้วมากและตรัสให้ตายายสร้างปราสาทหลังใหญ่ให้เสร็จภายใน 7 วัน เช่นกัน อุทัยเทวีได้เนรมิตปราสาทและเจ้าชายได้ตั้งจิตอธิษฐานขอสะพานทองจากเทวดา ในที่สุดทุกอย่างก็จบลงด้วยความสุข
*คติเตือนใจคือ* การประพฤติตนเป็นคนดี ขยัน กตัญญูส่งผลให้ได้รับผลบุญที่ดี

           8. คติธรรม ความสามัคคี จากนิทาน *เรื่องนกกระจาบ* : นก กระจาบฝูงหนึ่งถูกนายพรานใช้ตาข่ายจับไป หัวหน้านกกระจาบและนกที่เหลือได้หาวิธีเพื่อให้รอดพ้นจากตาข่าย เมื่อฝูงนกถูกนายพรานดักจับ ได้ใช้กลวิธีความสามัคคี ทำให้รอดพ้นจากตาข่ายนายพรานได้อย่างปลอดภัย *คติเตือนใจคือ* คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้
           9. คติธรรม ความพอประมาณ จากนิทาน *เรื่องหมากับเงา* : หมา หิวโซตัวหนึ่งแย่งก้อนเนื้อชิ้นหนึ่งมาจากหมาซึ่งตัวเล็กกว่า มันคาบก้อนเนื้อนั้นมาถึงลำธารแห่งหนึ่ง ขณะที่มันเดินข้ามสะพานมองลงไปในน้ำก็เห็นเงาของหมาตัวใหญ่ตัวหนึ่งคาบก้อน เนื้อขนาดใหญ่ไว้ในปาก จึงเกิดความโลภคายก้อนเนื้อและกระโดดลงไปในน้ำหมายจะแย่งเนื้อจากหมาที่เห็น ในน้ำซึ่งใหญ่กว่า ผลที่สุดหมาตัวนี้ก็ต้องอดโซต่อไป *คติเตือนใจคือ* จงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ โลภมากลาภหาย

           10. คติธรรม ความมีเหตุผล จากนิทาน *เรื่องสังข์ทอง* : รจนา เป็นธิดาองค์สุดท้องในจำนวนพระธิดาเจ็ดองค์ของท้าวสามล พระธิดาหกองค์ได้เลือกคู่ครองที่เป็นเจ้าชายเหมาะสมกับแต่ละคนแล้ว แต่รจนากลับมองเห็นรูปทองภายในของเจ้าเงาะรูปชั่วตัวดำ จึงเลือกเจ้าเงาะด้วยเหุตผลเป็นคนดี ท้าวสามลกริ้วมากจึงขับไล่ให้นางรจนาไปอยู่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ พระอินทร์ได้แปลงกายมาประลองตีคลีเอาเมืองกับท้าวสามล เขยทั้งหกไม่สามารถสู้รบกับพระอินทร์ เจ้าเงาะต้องถูกเกณฑ์ไปและมีชัยชนะ ทุกคนจึงได้ทราบความจริงว่า เงาะรูปชั่วตัวดำคือเจ้าชายสังข์ทอง *คติเตือนใจคือ* อย่ามองผู้อื่นหรือตัดสินผู้อื่นแต่เพียงภายนอก จงตริตรองด้วยเหตุผล


           11. คติธรรม มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง จากนิทาน *เรื่องมดง่ามกับจักจั่น* : ใน ฤดูฝน จักจั่นผอมโซเพราะเกียจคร้านตัวหนึ่งมาขออาหารมดง่าม ซึ่งขยันขันแข็งเก็บสะสมอาหารที่หาไว้ในช่วงฤดูร้อน จักจั่นตัวนั้นนอกจากไม่ได้อาหารจากมดง่ามแล้วยังถูกตำหนิว่ากล่าวให้อับอาย อีกด้วย *คติเตือนใจคือ* ความขยันหมั่นเพียร ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต

           คุณครูหรือพ่อแม่สามารถนำนิทานเล่านี้ไปเล่าประกอบการปลูกฝังคุณธรรมได้ครับ
*******
กล่องนิทาน http://www.oknation.net

No comments:

Post a Comment