Tuesday, March 13, 2012

เรื่องความเข้าใจผิดทาง ดาราศาสตร์

เรื่องความเข้้าใจผิดทางดาราศาสตร์์
โดย  นิพนธ์์ ทรายเพชร 
ราชบัณฑิต ผู้้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท.

        มีหลายเรื่องเกี่ยวกับดวงดาวและอวกาศที่เราเข้าใจผิดเพราะสาเหตุนานาประการ เป็นต้นว่า“เห็นเป็นอย่างนั้น” ได้ยินได้อ่านมาอย่างนี้” “ฟังผู้รู้บอกมา” ล่าสุดมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง
บอกว่าโลกจะล่มสลายในปีค.ศ. 2012 เป็นต้น จึงขอนำบางเรื่องที่เข้าใจผิดทางดาราศาสตร์
มาอธิบายเพื่อความเข้าใจว่าถูกต้อง


ดวงจันทร์มีด้านมืด
       เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะดวงจันทร์ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ด้านที่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์จะสว่างเป็นกลางวันอีกด้านหนึ่งมืดเป็น กลางคืน ดวงจันทร์จึงมีด้านมืดด้านสวว่างตลอดเวลา แต่บ างคนไม่คิดแบบนี้ แต่คิดว่าด้านไกลของดวงจันทร์มืดเสมอ ข้อนี้จริงสำหรับวันเดือนเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เพราะด้านใกล้ของดวงจันทร์ได้รับแสงอย่างเต็มที่ เนื่องจากหันไปทางดวงอาทิตย์ ด้านไกลจึงเป็นกลางคืนทั้งหมด และด้านใกล้เป็นกลางวันทั้งหมด แต่ในวันเดือนดับ (แรม 14 – 15 ค่ํา) ด้านใกล้ไม่ได้รับแสงจึงมืด ด้านไกลสว่างเพราะด้านไกลของดวงจันทร์หันไปทางดวงอาทิตย์ ณ ตำแหน่งใด ๆ ของดวงจันทร์รอบโลก ดวงจันทร์จะได้รับแสงอาทิตย์ครึ่งดวงเสมอ เหมือนโลกที่สว่างครึ่งหนึ่งเป็นกลางวันและอีกครึ่งหนึ่งมืดเป็นกลางคืน บนโลกกลางคืนยาวนานประมาณ 12 ชั่วโมงแต่บนดวงจันทร์เวลาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นถึงดวงอาทิตย์ตกยาว 14.8 วัน บนดวงจันทร์ก็เหมือนกับบนโลกเพียงแต่กลางวัน-กลางคืน ยาวกว่าบนโลก


Astronaut Stephen K Robinson
ไม่มีแรงโน้มถ่วงในอวกาศ
       นิวตันค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงระหว่างวัตถุมวล m1 กับวัตถุมวล m2 ที่อยู่ห่างกัน r ว่าแรงแปรผันตรงกับ
m1 m2 และแปรผกผันกับกำลัง 2 ของระยะห่าง ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ว่า แรง F = G m1 m2 / r2 เมื่อ G เป็นค่าคงที่สากลของแรงโน้มถ่วง หมายความว่า กฎนี้ใช้ได้ทั่วไปในโลก ในระบบโลก - ดวงจันทร์ ระบบสุริยะ ในดาวฤกษ์ ในกาแล็กซีของเรา และในอวกาศ มีแรงโน้มถ่วงในอวกาศแน่นอนความเชื่อเรื่องไม่มีแรงโน้มถ่วงในอวกาศเกิดขึ้นในยุคอวกาศ เมื่อทุกคนดูทีวีแล้วเห็นมนุษย์อวกาศลอยอยู่ในอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก นักเขียนหนังสือประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ อาร์เทอร์ ซี คลาร์ค ได้ใช้คำว่า “zeroG” ฟังดูเหมือนกับหมายความว่า ไม่มีแรงโน้มถ่วงแต่ความจริงก็คือ นักบินอวกาศอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก แรงโน้มถ่วงของโลกกำลังดึงนักบินอวกาศให้ตกสู่ผิวโลกแบบเดียวกับดึงลูกแอปเปิลให้ตกสู่พื้นโลก ยานอวกาศและนักบินอวกาศกำลังตกลงพร้อม ๆ กัน หากนักบินอวกาศยืนอยู่บนเครื่องชั่งน้ําหนัก เครื่องชั่งจะชี้ที่เลข 0 เพราะไม่มีแรงกดลงบนเครื่องชั่ง มนุษย์อวกาศจึงอยู่ในสภาพไม่มีน้ําหนักหรือไร้น้ําหนัก ในอวกาศนักบินอวกาศกำลังตกตลอดเวลาแต่ตกไม่ถึงพื้นดิน การที่เป็นเช่นนี้ได้จะต้องมีแรงดึงนักบินอวกาศไว้ แรงนั้นคือแรงโน้มถ่วงระหว่างนักบินอวกาศกับโลก ซึ่งมีค่าเท่ากับ GMm/r2 เมื่อ M เป็นมวลของโลก m คือ มวลของนักบินอวกาศ และ r คือ ระยะห่างระหว่างนักบินอวกาศกับจุดศูนย์กลางของโลก ในอวกาศจึงมีแรงโน้มถ่วงเสมอ ดวงจันทร์ก็อยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลกจึงเคลื่อนรอบโลก ดาวเทียมทั้งหลายเคลื่อนรอบโลกก็เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกทั้งสิ้น หากไม่มีแรงโน้มถ่วง ยานอวกาศจะเคลื่อนที่ไปในแนวเส้นตรงหนีออกไปจากโลก

วิดีทัศน์

*******
ปลายชอล์กจาก  http://magazine.ipst.ac.th

Tuesday, February 21, 2012

จริต

จริตคน คนมีจริต จริตลิขิตคน


       พูดถึงจริต เชื่อว่าหลายท่าน อาจรับไมได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามีคำหนึ่งที่พอเราได้ยินแล้ว ลมออกหู เป็นควัน คือ ดัดจริตหรือ เป็นคนมีราคะจริต
       ทีจริงแล้วจริตมีกันทุกคน ทางศาสนาพุทธนั้น ก่อนที่พระท่านจะสอนใครท่านต้องดู จริตคนนั้นเสียก่อน แล้วจัดบทเรียน บทปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของคน คนนั้น
        เรื่องนี้เป็นไปตามแนวการวิเคราะห์ผู้เรียน ที่พระพุทธเจ้า ทรงใช้วิเคราะห์เวลาจะเสด็จไปสอน
       โดนท่านทรงแบ่งจริตคนในโลกนี้ มีกีอย่าง อะไรบ้างนั้น
       โดยที่คุณครู ถ้ารู้เรื่องจริต จะสามารถจัดกิจกรรมได้สอดคล้องกับเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาได้    
       คำว่า "จริต" ในที่นี้หมายถึงสภาวะจิตของคนตามธรรมชาติจากการแบ่งจริตมนุษย์เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ
        1.ราคะจริต คือสภาวะจิตที่หลงติดในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสจนเป็นอารมณ์
        2.โทสะจริต หรือสภาวะจิตที่โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย เพียงพูดผิดสักคำ ได้เห็นดีกัน
        3.โมหะจริต หรือจิตที่มักอยู่ในสภาพง่วงเหงาหาวนอนหรือซึมเศร้าเป็นอาจิณ
        4.วิตกจริต หรือสภาวะจิตที่กังวล สับสนและวุ่นวายฟุ้งซ่านแทบทุกลมหายใจ
        5.ศรัทธาจริต คือสภาวะจิตที่มีปรัชญาหรือหลักการของตัวเองและพยายามผลักดันให้ตัวเองและผู้อื่นบรรลุถึงจุดหมายนั้น
       6.พุทธิจริต คือสภาวะจิตที่เน้นการใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง คิดหาเหตุหาผลมาแก้ปัญหาต่างๆในชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน รวมทั้ง มีความสนใจ เรื่องการยกระดับและพัฒนาจิตวิญญาณ 
       จริตแต่ละอย่างมีลักษณะ จุดอ่อน จุดแข็ง และการแก้ไขแตกต่างกันดังนี้

        ราคะจริต     
        ลักษณะ บุคลิกดี มีมาด น้ำเสียงนุ่มนวลไพเราะ ติดในความสวย ความงาม ความหอมความไพเราะ ความอร่อย ไม่ชอบคิด แต่ช่างจินตนาการเพ้อฝัน จุดแข็ง มีความประณีตอ่อนไหว และละเอียดอ่อน ช่างสังเกตุเก็บข้อมูลเก่ง มีบุคลิกหน้าตาเป็นที่ชอบและชื่นชมของทุกคนที่เห็น วาจาไพเราะ เข้าได้กับทุกคน เก่งในการประสานงาน การประชาสัมพันธ์และงานที่ต้องใช้บุคลิกภาพ
       จุดอ่อน ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่ได้ยาก ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้เกรงใจคน ขาดหลักการ มุ่งแต่บำรุงบำเรอผัสสะทั้ง 5 ของตัวเอง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ชอบพูดคำหวานแต่อาจไม่จริง อารมณ์รุนแรงช่างอิจฉา ริษยา ชอบปรุงแต่ง
       วิธีแก้ไข พิจารณาโทษของจิตที่ขาดสมาธิ ฝึกพลังจิตให้มีสมาธิเข้มแข็ง หาเป้าหมายที่แน่ชัดในชีวิต พิจารณาสิ่งปฏิกูลต่างๆของร่างกายมนุษย์เพื่อลดการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส 

       โทสะจริต
        ลักษณะ จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมา ชอบชี้ถูกชี้ผิด เจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์ แต่งตัวประณีต สะอาดสะอ้าน เดินเร็ว ตรงแน่ว
       จุดแข็ง อุทิศตัวทุ่มเทให้กับการงาน มีระเบียบวินัยสูง ตรงเวลา วิเคราะห์เก่ง มองอะไรตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อผู้อื่นสามารถพึ่งพาได้ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ค่อยโลภ
       จุดอ่อน จิตขุ่นมัว ร้อนรุ่ม ไม่มีความเมตตา ไม่เป็นที่น่าคบค้าสมาคมของคนอื่น และไม่มีบารมี ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างวจีกรรมเป็นประจำ มีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย
       วิธีแก้ไข สังเกตดูอารมณ์ตัวเองเป็นประจำ เจริญเมตตาให้มากๆ คิดก่อนพูดนานๆ และพูดทีละคำ ฟังทีละเสียง อย่าไปจริงจังกับโลกมากนัก เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ พิจารณาโทษของความโกรธต่อความเสื่อมโทรมของร่างกาย 

       โมหะจริต 
        ลักษณะ ง่วงๆ ซึมๆ เบื่อๆ เซ็งๆ ดวงตาดูเศร้าๆ ซึ้งๆ พูดจาเบาๆ นุ่มนวลอ่อนโยน ยิ้มง่าย อารมณ์ ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่น เดินแบบขาดจุดมุ้งหมาย ไร้ความมั่นคง
       จุดแข็ง ไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจอะไรได้ง่ายและชัดเจน มีความรู้สึก มักตัดสินใจอะไรได้ถูกต้อง ทำงานเก่ง โดยเฉพาะงานประจำ ไม่ค่อยทุกข์หรือเครียดมากนัก เป็นคนดี เป็นเพื่อนที่น่าคบ ไม่ทำร้ายใคร
       จุดอ่อน ไม่มีความมั่นใจ มองตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง โทษตัวเองเสมอ หมกมุ่นแต่เรื่องตัวเองไม่สนใจคนอื่น ไม่จัดระบบความคิด ทำให้เสมือนไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่ชอบเป็นจุดเด่น สมาธิอ่อนและสั้นเบื่อง่าย อารมณ์อ่อนไหวง่ายใจน้อย
       วิธีแก้ไข ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน ฝึกสมาธิสร้างพลังจิตให้เข้มแข็ง ให้จิตออกจากอารมณ์ โดยจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือเล่นกีฬา แสวงหาความรู้ และต้องจัดระบบความรู้ความคิด สร้างความแปลกใหม่ให้กับชีวิต อย่าทำอะไรซ้ำซาก 

        วิตกจริต
       ลักษณะ พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ ความคิดพวยพุ่ง ฟุ้งซ่านอยู่ในโลกความคิด ไม่ใช่โลกความจริง มองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้ม เจ้ากี้เจ้าการ อัตตาสูงคิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ผัดวันประกันพรุ่ง
       จุดแข็ง เป็นนักคิดระดับเยี่ยมยอด มองอะไรทะลุปรุโปร่งหลายชั้น เป็นนักพูดที่เก่ง จูงใจคน เป็นผู้นำหลายวงการ ละเอียดรอบคอบ เจาะลึกในรายละเอียด เห็นความผิดเล็กความผิดน้อยที่คนอื่นไม่เห็น
       จุดอ่อน มองจุดเล็กลืมภาพใหญ่ เปลี่ยนแปลงความคิดตลอดเวลา จุดยืนกลับไปกลับมา ไม่รักษาสัญญา มีแต่ความคิด ไม่มีความรู้สึก ไม่มี วิจารณญาณ ลังแล มักตัดสินใจผิดพลาด มักทะเลาวิวาท ทำร้ายจิตใจ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีความทุกข์ เพราะเห็นแต่ปัญหา แต่หาทางแก้ไม่ได้
       วิธีแก้ไข เลือกความคิด อย่าให้ความคิดลากไป ฝึกสมาธิแบบอานาปานัสสติ เพื่อสงบสติ อารมณ์ เลิกอกุศลจิต คลายจากฟุ้งซ่าน สร้างวินัย ต้องสร้างกรอบเวลา ฝึกมองภาพรวม คิดให้ครบวงจร หัดมองโลกในแง่ดี พัฒนาสมองด้านขวา 

       ศรัทธาจริต
       ลักษณะ ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการหรือความเชื่อถือและความศรัทธา คิดว่าตัวเองเป็นคนดี น่าศรัทธา ประเสริฐ กว่าคนอื่น เป็นคนจริงจัง พูดมีหลักการ
       จุดแข็ง มีพลังจิตสูงและเข้มแข็งพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่าเดิม มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล มีลักษณะความเป็นผู้นำ
       จุดอ่อน หูเบา ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ถูกหลอกได้ง่าย ยิ่งศรัทธามาก ปัญญายิ่งลดน้อยลง จิตใจคับแคบ ไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ไม่ประนีประนอม มองโลกเป็นขาวและดำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนคิดว่าถูกต้อง สามารถทำได้ทุกอย่างแม้แต่ใช้ความรุนแรง
       วิธีแก้ไข นึกถึงกาลามสูตร ใช้หลักเหตุผลพิจารณาเหนือความเชื่อ ใช้ปัญญานำทาง และใช้ศรัทธาขับเคลื่อน เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ลดความยึดมั่นในตัวบุคคลหรืออุดมการณ์ ลดความยึดมั่นในตัวกูของกู 

       พุทธจริต 
       ลักษณะ คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงไม่ปรุงแต่ง พร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกตุ มีความเมตตาไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใส ตาเป็นประกาย ไม่ทุกข์
       จุดแข็ง สามารถเห็นเหตุเห็นผลได้ชัดเจน และรู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง อัตตาต่ำ เปิดใจรับข้อเท็จจริง จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่จมปลักในอดีต และไม่กังวลในสิ่งที่จะเกิดในอนาคต พัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เป็นกัลยาณมิตร
       จุดอ่อน มีความเฉื่อย ไม่ต้องการพัฒนาจิตวิญญาณ ชีวิตราบรื่นมาตลอด หากต้องเผชิญพลังด้านลบ อาจเอาตัวไม่รอด ไม่มีความเป็นผู้นำ จิตไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดคนให้คล้อยตาม วิธีแก้ไข้ ถามตัวเองว่าพอใจแล้วหรือกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มพลังสติสมาธิ พัฒนาจิตใจให้มีพลังขับเคลื่อนที่แรงขึ้น เพิ่มความเมตา พยายามทำให้ประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น 
     จริตทั้ง 6 ประเภทที่กล่าวมา นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร้ขอบเขต ทำให้เรารูจักคนมากขึ้น และแนะนำคนอื่นได้ ท่องจำ นำไปใช้กันดูครับ
*******
ปลายดินสอจาก http://www.panyathai.or.th

Tuesday, February 7, 2012

วิทยาศาสตร์ชี้ชัด ปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ ส่งผลดีต่อสมอง

วิทยาศาสตร์ชี้ชัด ปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ ส่งผลดีต่อสมอง
  โดย ผู้จัดการออนไลน์

       บทความชิ้นนี้คงเหมาะกับครู ที่จะนำไปประยุกต์ใข้ในการเรียนการสอนได้บ้าง ความจริงรายงานและผลการวิจัยสิ่งเหล่านี้น่าจะปรากฏขึ้น ในสถาบันการศึกษาของไทย เพราะเป็นเมืองพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยของสงฆ์ก็มี การศึกษาเรื่องเหล่านี้หาไม่ค่อยพบ   แต่กลับไปปรากฏในชาติตะวันตกแทน ที่เขาศึกษาเรื่องของศาสนาพุทธ เท่าที่ได้ค้นหามีมหาวิทยาอีกหลายแห่งที่ศึกษานี้เช่น มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน  อ่านดีกว่าครับ

Tuesday, January 24, 2012

ความประหยัดจากใจ

ครูครับครู  ขอยกงานเขียนอันทรงคุณค่าของท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ท่านเขียนถึง พระอาจารย์พุทธทาส ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือการประหยัด ทำให้เราได้ทราบถึง การเห็นคุณค่าของสิ่งของ ที่เชื่อว่าเมื่อหลายๆท่านได้อ่านแล้ว นำมาเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้บ้าง

ความประหยัดจากใจ
 ของท่านพระอาจารย์พุทธทาส
 โดย พระไพศาล วิสาโล

        นิสัยความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น เป็นที่รับรู้อย่างชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้ใกล้ชิด ท่านอาจารย์เองเคยเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ เล่าไว้เมื่อวันสนธยาว่า ลักษณะนิสัยดังกล่าวรับถ่ายทอด และฝึกฝนมาจากโยมมารดาของท่านตั้งแต่เด็ก มีผลให้ท่านเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ใช้และมีความละเอียดลออรอบคอบอีกด้วย
        ท่านอาจารย์โพธิ์พูดถึงเรื่องความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “อาตมาเห็นว่าท่านประหยัดทุกเรื่อง ท่านพูดชัดเจนว่า ทำอะไรต้องประหยัดให้มากที่สุด ความเป็นอยู่ของท่านอาจารย์ เราจะเห็นว่าท่านประหยัดมาก อาหาร ที่อยู่ ที่หลับที่นอน อะไร ๆ ก็เรียกว่าไม่ต้องใช้ของแพง มีอะไรใช้ได้ก็ให้ใช้ อะไรที่ยังใช้ได้ก็ไม่ค่อยจะรื้อทิ้งพยายามที่จะรักษาและใช้มันก่อน ท่านมีนิสัยอย่างนี้ตลอดเวลาเท่าที่อาตมาสังเกตเห็นจากท่าน”
        ในขณะที่ พระสิงห์ทอง เขมิโยพระอุปัฏฐาก เล่าว่าท่านเองได้รับการฝึกฝนเรื่องดังกล่าวจากท่านอาจารย์โดยตรง จากวิธีการใช้ห่อพัสดุต่าง ๆ คือ “ห่อพัสดุหรือห่ออะไรที่เขาส่งมาถึงท่าน ท่านอาจารย์จะบอกอาตมา ไม่ให้ฉีกไม่ให้ตัด ท่านจะให้แก้ออกโดยเอาส้อมแทงเข้าไปในเชือกที่เขาผูก แล้วก็แก้ออกมา เพื่อจะเอาไปใช้ได้อย่างเดิมอีก คือท่านจะไม่เคยให้ซื้อของใช้ที่เป็นพวกวัสดุห่อของ กระดาษเชือกเลย เพราะจะมีครบหมดเลย เวลาจะห่อของให้ใคร หรือส่งอะไรก็แล้วแต่ จะเอาวัสดุที่เขาใช้ส่งมานั่นแหละ ห่อกลับคืนไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปซื้อไปหาที่อื่นอีก ใช้การเก็บเอาจากของเดิมนั้นเอง ท่านหัดเรามาอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ ๆ โดยท่านจะแนะนำจนกว่าเห็นว่าเราจะทำเป็น ท่านจึงวางมือให้เราจัดการต่อ”
        การใช้เครื่องนุ่งห่มของท่านก็ประหยัดมาก ถ้าต้องรับแขกหรือในพิธีการ เช่น รับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช รับถวายปริญญาบัตรอะไรต่าง ๆ ท่านก็จะนุ่งห่มของที่ใหม่หน่อย แต่ถ้าเป็นเวลาปกติแล้วท่านอาจารย์จะนุ่งห่มผ้าเก่า บอกว่าสบายตัว ท่านจะใช้จนเก่ามาก ขนาดว่าเปื่อยจนนั่งขาด ทำอะไรไม่ได้แล้วจึงจะทิ้งอย่างนั้นทุก ๆ ผืน อย่างผ้าสรงน้ำของท่านนั้น ใช้เก่าจนขนาดตากไว้ มีคนแถวกุฏิที่ไม่รู้ถือวิสาสะเข้ามาหยิบไปใช้ นึกว่าเป็นผ้าขี้ริ้ว เราต้องไปวิ่งตามเอาคืน บอกว่าเป็นผ้าสรงน้ำของท่านอาจารย์ ผ้าอย่างดีที่มีคนเอามาถวาย ท่านก็ไม่ใช้ แต่จะเอาชนิดปานกลางพื้น ๆ เท่านั้น
         พระเลขานุการ พระพรเทพ ฐิตปัญโญ ซึ่งใกล้ชิดในการทำงานเล่าว่า “ในการทำงานท่านอาจารย์ใช้ข้าวของประหยัดมากอย่างไม่น่าเชื่อเลย อย่างพิมพ์จดหมาย ซึ่งต้องพิมพ์ก๊อปปี้ด้วยเมื่อพิมพ์เสร็จ ท่านอาจารย์อ่านทวนใหม่ แล้วบอกว่าจะเปลี่ยนตรงนี้อีกหน่อย อาตมาบอกท่านว่า เดี๋ยวผมพิมพ์เปลี่ยนให้ใหม่ ท่านไม่เอาบอกว่าเสียดายกระดาษ มันพิมพ์ไปแล้วผิดอย่างนี้ ช่างมันเถอะเราก็พยายามคะยั้นคะยอท่าน บอกท่านอาจารย์ครับ ผมพิมพ์แก้ใหม่ให้ครับ คะยั้นคะยอเท่าไหร่ท่านก็ไม่พิมพ์ใหม่ บอกว่าปล่อยผิดอย่างนี้ไป อย่างมากก็ให้เขาคิดว่าเราโง่ ดีกว่าเสียกระดาษ เสียพลังงาน เสียทรัพยากร ก็ส่งไปอย่างนั้น ถ้าเป็นเราเอาใหม่แล้วใช่ไหม แต่บางงานท่านก็ให้พิมพ์ใหม่เหมือนกัน แล้วแต่กรณีและความเหมาะสม คือถ้าไม่จำเป็นท่านจะยึดหลักประหยัดไว้ก่อน
        อย่างกระดาษหรือสมุดโน๊ตใหม่ ๆ ดี ๆ ท่านไม่ค่อยได้ใช้หรอกเคยถามท่านเหมือนกัน ท่านอาจารย์บอกว่ามันดีเกินไปเสียดายแล้วท่านไปโน๊ตใส่อะไรรู้ไหม ? ท่านใช้กระดาษปฏิทิน ที่ท่านฉีกแล้วห้ามทิ้งนะ ท่านจะสั่งว่า คุณเอามาเก็บตรงนี้ แล้วท่านก็เอาด้านหลังมาโน๊ตอีก แล้วข้อความสำคัญทั้งนั้นเลยนะที่โน๊ตในเศษกระดาษพวกนั้นน่ะ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ มีเป็นกล่อง ๆ เลย ท่านเป็นคนประหยัดขนาดนี้ ประหยัดมาก
        บนโต๊ะทำงานซึ่งเป็นโต๊ะฉันของท่านด้วยนั้น พอท่านฉันอาหารเสร็จ กระดาษชำระที่ใช้แล้วก็เอามาเช็ดโต๊ะ แล้วจึงทิ้งมีบางครั้งท่านเช็ดแล้วไม่ทิ้ง เราไปเห็นเข้า เราบอกท่านอาจารย์ครับ อันนี้ทิ้งนะครับ ท่านบอกไม่ทิ้ง มันไม่เลอะอะไร เอาเช็ดน้ำเฉย ๆ ให้เอาไว้ตรงนั้น เดี๋ยวมันแห้ง เอามาเช็ดได้ใหม่ ท่านประหยัดและละเอียดขนาดนี้เลย ปกติพวกเรานั้น เช็ดทิ้ง ๆ”
       เรื่องการติดเครื่องปรับอากาศในห้องพักของท่านอาจารย์ได้มีผู้เสนอไว้หลายครั้ง แต่ท่านปฏิเสธตลอดบอกว่าไม่เหมาะสมไม่ควรจนกระทั่งเมื่อท่านมีปัญหาสุขภาพ แพทย์แนะนำว่าต้องติดเครื่องปรับอากาศในห้องของท่าน เพราะถ้าอากาศร้อนจัดและท่านเสียเหงื่อมาก ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อกราบเรียนความจำเป็นในเรื่องนี้ ท่านจึงอนุญาต แต่เอาเข้าจริง ๆ ท่านก็ไม่ค่อยเปิดใช้ นายเมตตา พานิช หลายชายของท่านเล่าว่าเคยมาพบเมื่อท่านเรียกหา เห็นท่านอาจารย์เปิดพัดลมแทน เปิดเครื่องปรับอากาศ จึงกราบเรียนถามท่านว่า ทำไมไม่เปิดแอร์ ท่านอาจารย์บอกสั้น ๆ เพียงว่า “มันเปลือง”
******* 
ปลายชอล์ก http://www.visalo.org

Wednesday, January 18, 2012

กระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ

กระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ
โดย พระไพศาล วิสาโล 


          หากกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธหมายถึงกระบวนการที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่ง ปัญญา สาระของกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธก็ได้ถูกย่นย่อไว้แล้วในพุทธพจน์ข้างล่าง นี้ 
 
"ภิกษุ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา กล่าวคือ การเสวนาสัตบุรุษ การฟังสัทธรรม โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ" (๒๑/๒๔๙)
       จากพุทธพจน์ข้างต้น สามารถแยกกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
       ๑. การรับรู้ ได้แก่การเสวนาสัตบุรุษ และการฟังสัทธรรม
       ๒. การคิด ได้แก่ โยนิโสมนสิการ
       ๓. การปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

                                                                    การรับรู้
        จะเห็นได้ว่า การรับรู้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างมากแก่การรับรู้สิ่งที่ดีงามถูกต้อง(สัทธรรม) ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้จากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร(สัตบุรุษ)
       อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับรู้นั้นนอกจากประกอบด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือคำชี้แนะอันเป็นองค์ประกอบภายนอกแล้ว องค์ประกอบภายใน อันได้แก่ ความสามารถในการรับรู้เข้าใจก็มีความสำคัญอย่างมาก แม้จะได้ยินได้ฟังสิ่งดีงาม แต่หากรับรู้หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน การรับรู้ก็ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
      ความคลาดเคลื่อนในการรับรู้อย่างแรกก็คือ การรับรู้ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่นได้ยินหรือเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ปัจจัยสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่อายตนะทั้ง ๕ เช่นหู หรือตา แต่อยู่ที่ใจหรือความรู้สึกนึกคิด คนที่กำลังหวาดกลัวด้วยไม่เคยเข้าป่า ย่อมเห็นรากไม้เป็นงูได้ง่าย ๆ ในทำนองเดียวกันพ่อที่กำลังกังวลกับงานการย่อมได้ยินไม่ตลอดว่าลูกกำลัง ปรึกษาเรื่องอะไร ส่วนคนที่กำลังคุมแค้นอยู่ในใจ ถ้ามีใครยิ้มให้ก็อาจมองว่าเขายิ้มเยาะตนก็ได้ พูดตามหลักปฏิจจสมุปบาทก็คือ สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ
       การรับรู้คลาดเคลื่อนนั้นมิได้เป็นผลจากการปรุง แต่งของอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นเท่านั้น หากยังเกิดจากทัศนคติหรือทิฏฐิที่ฝังแน่นในใจด้วย เคยมีการทดลองโดยอาจารย์ผู้หนึ่งพาคนแปลกหน้าไปแนะนำให้นักศึกษา ๕ กลุ่มรู้จัก ในแต่ละกลุ่ม ก็แนะนำแตกต่างกันไป เช่นแนะนำว่าเป็นนักศึกษาบ้าง ศึกษานิเทศก์บ้าง อาจารย์บ้าง อาจารย์อาวุโสบ้าง และศาสตราจารย์บ้าง หลังจากนั้นอาจารย์ก็ให้นักศึกษาแต่ละชั้นกะประมาณความสูงของบุคคลผู้นั้น ปรากฏว่านักศึกษาแต่ละกลุ่มประเมินความสูงของชายผู้นั้นแตกต่างกันไป ที่น่าสนใจก็คือ ความสูงของคน ๆ นั้นในสายตาของนักศึกษาแต่ละกลุ่มจะขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นแนะนำตัวเอง ว่าอย่างไร “ศาสตราจารย์”จะมีความสูงมากที่สุด และที่สูงน้อยที่สุดคือ”นักศึกษา” นั่นหมายความว่า ยิ่งแนะนำตัวว่ามีสถานะทางสังคมสูงเท่าไร ก็ยิ่งมีความสูงในสายตาของนักศึกษามากเท่านั้น สรุปก็คือ การให้ค่าแก่สถานภาพทางสังคมมีผลต่อการรับรู้ของนักศึกษา(และคนทั่วไป) แม้จะเป็นเพียงการรับรู้ทางกายภาพ หรือการรับรู้ด้วยตาก็ตาม
       ด้วยเหตุนี้ ในกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ นอกจากจะให้ความสำคัญแก่ข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่จะรับรู้แล้ว สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือความสามารถในการรับรู้ ในทางพุทธศาสนาสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการรับรู้ตรงตามความเป็นจริงก็คือ สติ สติช่วยให้บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในใจ สามารถยกจิตจากอารมณ์และรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังประสบอย่างตรงตามความเป็นจริงได้ (active listening ที่กำลังพูดถึงในหลายวงการ ก็คือการฟังอย่างมีสติ ปลอดจากอคติและสมมติฐานล่วงหน้านั่นเอง) สติหากมีกำลังเพียงพอและต่อเนื่อง ยังจะช่วยให้บุคคลมองเห็นตัวเองอย่างลึกซึ้งจนตระหนักถึงทัศนคติหรือความ ลำเอียงทางเชื้อชาติ เพศ เศรษฐกิจ สถานะ ที่ฝังลึกอยู่ในตน อันเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้โลกตามความเป็นจริง
       สติยังช่วยให้ปัญญาหรือความรู้ที่มีอยู่ ถูกดึงมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ด้วย และหากฝึกฝนมาดีพอ ทั้ง ๆ ที่เห็นหรือรับรู้สิ่งที่ไม่ดี แทนที่จะเป็นโทษก็อาจเป็นคุณด้วย พุทธศาสนาแม้จะเน้นการรับรู้สิ่งที่ดี แต่เมื่อมีเหตุจะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ท่านก็สอนให้รู้จักเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี พระเถระบางรูปในสมัยพุทธกาล เช่น พระลกุณฑกภัททิยะเห็นนางคณิกาหัวเราะแย้มยิ้ม แทนที่จะเกิดกามราคะในใจ ท่านกลับพิจารณาเป็นอารมณ์ จนเกิดความสลดสังเวชในสังขาร และบรรลุอนาคามิผลทันที ยิ่งพระนาคสมาลด้วยแล้ว ท่านบรรลุอรหัตผลขณะเห็นผู้หญิงฟ้อนรำกลางถนนด้วยซ้ำ
        ในพุทธศาสนามีคำว่า อินทรียสังวร หรือการสำรวมอินทรีย์ หมายถึงการระวังไม่ให้อกุศลธรรมครอบงำใจเมื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ มักเข้าใจกันว่าอินทรียสังวรหมายถึงการระวังหูระวังตาไม่ไปรับรู้รับเห็น สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม นี้ยังเป็นความหมายที่แคบ การสำรวมอินทรีย์ที่แท้จริงหมายความรวมถึง การรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่เกิดอกุศลแม้จะเห็นสิ่งไม่ดีไม่งาม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายคำนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าหมายถึง"การใช้อินทรีย์ให้เป็น" ความหมายดังกล่าวมีความสำคัญมาก การฝึกฝนอบรมเยาวชน(และผู้ใหญ่)ที่แล้วมาเน้นให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี (เช่น สื่อลามก และสื่อรุนแรง) แต่การสอนเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะทุกวันนี้สิ่งดังกล่าวได้แพร่สะพัดไปทั่ว และตามเข้าไปถึงห้องนอน (โดยผ่านโทรทัศน์ วีดีโอ และคอมพิวเตอร์) ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนยุคบริโภคนิยมไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนให้เยาวชน(และผู้ใหญ่)รู้ว่าจะวางใจอย่าง ไรเมื่อประสบพบเห็นสิ่งเหล่านี้ พูดง่าย ๆ คือฝึกให้เป็นฝ่ายรับที่ชาญฉลาด แทนที่จะเอาแต่หลบเลี่ยง(ซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้ว)
       แน่นอนว่าสติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากสำหรับอินทรียสังวร แต่อินทรียสังวรจะเกิดผลดีได้ต้องอาศัยปัญญาหรือการรู้จักคิดด้วย นี้เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการ
       ก่อนที่จะพูดต่อไปถึงเรื่องโยนิโสมนสิการ ควรกล่าวด้วยว่ายังมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การเข้าใจเนื้อหาสาระหรือจับประเด็นได้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ในกรณีที่เป็นการฟังหรือการอ่าน การรับรู้ที่ถูกต้องมิได้หมายความว่าได้รับรู้ถ้อยคำอย่างถูกต้องครบถ้วน เท่านั้น หากยังรวมไปถึงการเข้าใจเนื้อหาหรือสามารถจับประเด็นที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ สื่อได้ และถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือสามารถเข้าใจอรรถหรือจุดมุ่งหมายของเนื้อหาดัง กล่าว ประเด็นนี้จะได้กล่าวต่อไป
                     
                                                               การคิด
        เมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น และครบถ้วนแล้ว กระบวนการเรียนรู้ขั้นต่อมาก็คือ การคิด หรือการนำเอาสิ่งที่รับรู้นั้นมาย่อย จัดระเบียบ หรือเสริมเติมต่อเพื่อให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น เปรียบดังการย่อยอาหารให้เกิดพลังงานเพื่อความเจริญเติบโตของร่างกาย
       โยนิโสมนสิการคือการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี สามารถจัดได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ โยนิโสมนสิการแบบปลุกปัญญา คือการคิดเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งตามสภาวะหรือความเป็นจริง โยนิโสมนสิการประเภทนี้มุ่งให้เกิดโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ เข้าถึงอิสรภาพทางจิตและปัญญา แต่ในระดับสามัญหรือโลกียธรรมหมายถึงการคิดเพื่อให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น ส่วนโยนิโสมนสิการอีกประเภทหนึ่งคือ โยนิโสมนสิการแบบเสริมสร้างคุณภาพจิต เป็นการใช้ความคิดเพื่อให้เกิดกุศลธรรม เป็นอุบายลดโลภะ โทสะและโมหะ โดยใช้ธรรมฝ่ายดีมากดข่มหรือทดแทน
       พระพรหมคุณาภรณ์ได้แจกแจงโยนิโสมนสิการ ๒ ประเภทดังกล่าวออกมาเป็น ๑๐ วิธีอย่างละเอียด ผู้สนใจสามารถอ่านได้จาก พุทธธรรม จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้
       อย่างไรก็ตาม ขอกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้จักคิดหรือเกิดโยนิโสมนสิการก็คือการรู้จักตั้งคำ ถาม คำถามนั้นเป็นตัวนำความคิดและกำหนดการรับรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ พระพุทธองค์ได้ใช้คำถามในการกระตุ้นให้เกิดปัญญาบ่อยครั้งมาก อันที่จริงการที่มีพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าชายสิทธัตถะหมั่นตั้งคำ ถามกับตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรถึงจะพ้นทุกข์ได้ คำถามนี้คำถามเดียวเท่านั้นที่ทำให้ทรงสละวังออกบวช ละทิ้งอาฬารดาบส อุททกดาบส และเลิกละการบำเพ็ญทุกรกริยา จนค้นพบสัจธรรม อันทำให้พ้นทุกข์สิ้นเชิง
        คำถามอีกเช่นกันที่ทำให้องคุลีมาลฉุกคิดขึ้นมา เลิกไล่ล่าพระพุทธองค์ และสนใจสดับฟังธรรมจากพระองค์ คำถามนั้นก็คือ"เราหยุดแล้ว แต่เหตุใดท่านจึงยังไม่หยุด ?"
       เมื่อถูกลูกศรเสียบอก ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องหาคำตอบคืออะไร ถามหาว่าใครยิงธนู ? ธนูมาจากไหน ? ทำด้วยอะไร ? หรือตอบให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะถอดลูกธนูออกมาได้ ? คำถามเหล่านี้พระพุทธองค์ได้ใช้ในการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดฉุกคิดขึ้นมา และสนใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ แทนที่จะคอยจะหาคำตอบในทางอภิปรัชญา ว่า โลกเที่ยงหรือไม่ ?คนเรามาจากไหน ? ตายแล้วไปไหน ? ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ทำให้ชีวิตว่างเปล่าและหลงทิศหลงทาง
       กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่รู้จัก คิดหรือคิดไม่ถูกวิธี ขณะเดียวกันคนจะคิดเป็นหรือคิดถูกวิธีได้ก็เพราะรู้จักตั้งคำถาม กระบวนการศึกษาที่ถูกต้องจึงควรให้ความสำคัญแก่การฝึกให้รู้จักตั้งคำถาม ด้วย มิใช่เก่งแต่การแสวงหาหรือจดจำคำตอบอย่างเดียว
      เนื่องจากการเรียนรู้แบบต่าง ๆ พูดถึงเรื่องการคิดไว้มากแล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวในที่นี้มากนัก



                                                                  การปฏิบัติ
        ในทางพุทธศาสนา การปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ขาดการปฏิบัติย่อมมิใช่การเรียนรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูก ต้อง นี้อาจเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การศึกษาแบบพุทธแตกต่างจากการศึกษาแบบตะวันตก หลายสำนัก เพราะฝ่ายหลังนั้นเน้นการใช้ความคิดล้วน ๆ จึงเป็นการเรียนรู้ในระดับพุทธิปัญญา(intellect)
      การศึกษาหรือสิกขาในทางพุทธศาสนา ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกสั้น ๆ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ ส่วนนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ นอกเหนือจากการสดับฟัง การอ่าน และการคิด
       พึงสังเกตว่าการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงเน้นดังปรากฏในพุทธพจน์ต้นบทความก็ คือการปฏิบัติที่เรียกว่าธรรมานุธรรมปฏิบัติ คำนี้มักแปลกันว่า ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม หรือปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ พระธรรมปิฎกให้อธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึง"ปฏิบัติธรรมถูกหลัก คือทำให้ข้อปฏิบัติย่อยเข้ากันได้ สอดคล้องกันและส่งผลแก่หลักการใหญ่ เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ต้องการ" (พุทธธรรม หน้า ๖๘๔) พูดง่าย ๆ คือปฏิบัติตรงตามจุดมุ่งหมาย
       การปฏิบัติให้ตรงตามจุดมุ่งหมายมิใช่เรื่องง่าย พระพุทธองค์เคยตรัสกับพระสารีบุตรว่า ผู้ที่ยินดีในธรรมานุธรรมปฏิบัติ นับว่าหาได้ยาก แม้ว่าในที่นี้พระองค์จะทรงหมายถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตผล แต่ในระดับโลกียธรรมธรรมานุธรรมปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น นอกจากจะต้องรู้ข้อธรรมแล้ว ยังต้องรู้จุดมุ่งหมายของธรรมข้อนั้น ๆ ด้วย จึงจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่นักปฏิบัติเป็นอันมาก แม้จะรู้ข้อธรรมแต่ไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย ดังนั้นเราจึงเห็นคนถือศีลจำนวนไม่น้อย เกิดความหลงตัวหรือยกตนข่มทานว่าสมาทานศีลมากกว่าหรือเคร่งกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ศีลนั้นมีจุดหมายเพื่อการลดละและขัดเกลาตนเอง น้อมจิตสู่ความสงบสำหรับเป็นฐานสู่สมาธิและปัญญา ในทำนองเดียวกันหลายคนถือสันโดษแล้วก็เลยเฉื่อยชา ไม่เอางานเอาการทั้ง ๆ ที่สันโดษนั้นพระองค์ทรงสอนเพื่อผู้คนจะได้เอากำลังและเวลาที่เคยปรนเปรอตน ไปใช้ในการสร้างสรรค์ความดีงามทั้งสำหรับตนและส่วนรวม อีกตัวอย่างคือสุขและสัปปายะ จุดมุ่งหมายของทั้ง ๒ ประการ เพื่อเอื้อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยดี แต่คนเป็นอันมาก เมื่อได้รับความสุขและอยู่ในที่สบาย(สัปปายะ) ก็พอใจเพียงเท่านั้น หยุดนิ่ง ไม่สนใจที่จะเพียรพยายามพัฒนาตน
       ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นก็เพื่อจะชี้ว่า นอกจากจะให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติในฐานะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการ เรียนรู้แล้ว การเข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติแต่ละอย่างก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ จึงไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถชี้แนะสิ่งดีงาม(ธรรม)แก่ศิษย์แล้ว ยังจะต้องเข้าใจกระจ่างชัดในจุดมุ่งหมาย(อรรถ)ของสิ่งเหล่านั้นด้วย พร้อมกันนั้นก็สามารถช่วยให้ศิษย์รู้จักคิด สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของสิ่งที่ตนสอน จับหลักจับประเด็นได้ พร้อมกับเข้าใจจุดมุ่งหมายของหลักหรือสาระเหล่านั้นได้ด้วย (พระพรหมคุณาภรณ์เรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์) เมื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายแล้ว ก็สามารถประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เกิดผลได้ในทุกสถานการณ์ หรือสามารถบูรณาการสิ่งเหล่านั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตประจำวัน ได้ คนเป็นอันมากไม่สามารถเอาความรู้มาใช้ในประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของความรู้เหล่านั้น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือแม้แต่ศาสนา จึงเป็นเพียงแค่ความรู้ในตำราที่ใช้ประโยชน์เฉพาะเวลาสอบหรือโต้เถียงกัน เท่านั้น ในทำนองเดียวกันวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่มิได้ช่วยให้คนรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเลย
        ผู้ที่สนใจการปฏิบัติในฐานะที่เป็นกระบวนการเรียน รู้ ขอแนะให้ดูตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากบทความเรื่อง"ปลูกผักสร้างคนที่ โรงเรียนวัดวังสวัสดี"ใน สานปฏิรูป ฉบับที่ ๑๔ เดือนเมษายน ๒๕๔๒ บทความนี้เป็นเรื่องของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยใช้การปลูกผักเป็นสื่อหรืออุบาย เด็กจะเรียนรู้คณิตศาสตร์ ศีลธรรม นิเวศวิทยา วิชาธุรกิจและการจัดการ รวมทั้งคุณค่าของการร่วมมือกัน จากการที่ได้ร่วมกันปลูกผัก ในด้านหนึ่งนี้คือการฝึกให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติและใช้ ความจริงเป็นตัวตั้ง (แทนที่จะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง) อีกด้านหนึ่งนี้เป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้และวิชาการทั้งหลายให้มา ผสานกันโดยมีแปลงผักเป็นจุดเชื่อมต่อ แต่แปลงผักจะนำผู้เรียนไปสู่โลกแห่งวิชาความรู้สาขาต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อครูหรือผู้แนะนำนั้นรู้ชัดในอรรถหรือจุดมุ่งหมายของกิจกรรม ต่าง ๆ ที่แนะให้เด็กทำ หาไม่แปลงผักก็มีความหมายเพียงแค่อาหารกลางวันราคาถูกหรือคะแนนเสริม ประสบการณ์เท่านั้น
       ควรกล่าวย้ำด้วยว่า การปฏิบัติที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การทำ"การบ้าน"หรือการทำแบบฝึกหัดในหนังสือเท่า นั้น หากยังหมายถึงการพาตนออกจากห้องเรียนสู่โลกกว้าง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่งท่ามกลางสังคม เพื่อรู้จักชีวิตและความเป็นจริง
       การรับรู้ การคิด และการปฏิบัตินี้ ในที่สุดก็จะเชื่อมกันเป็นวัฎจักร เพราะเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้รู้จักคิดได้ดีขึ้น และเกิดความรู้ใหม่แล้ว ยังทำให้เกิดทัศนคติใหม่ เกิดความใฝ่รู้ มองสิ่งต่าง ๆ ว่าเอื้อให้เกิดปัญญาได้ทั้งนั้น อีกทั้งยังอาจเกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่นมากขึ้น เช่นเห็นว่าการร่วมมือกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น ทัศนคติเหล่านี้ย่อมเปิดใจให้รับรู้สิ่งต่าง ๆได้มากขึ้น ละเอียดลออถี่ถ้วนขึ้น เรียกว่าเปิดใจกว้างและเป็นกลางได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มสมรรถนะในการใช้อินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ การรับรู้เช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการคิดและการปฏิบัติที่เกื้อกูลเป็นกุศล มากขึ้น เอื้อให้เกิดความเจริญแห่งปัญญา และนำไปสู่ความงอกงามแห่งชีวิตและสังคมในที่สุด
       นอกจากการสัมพันธ์เชื่อมโยงจนครบวงจรแล้ว ในทางพุทธศาสนายังเห็นว่า ทั้งการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติ ในตัวมันเองก็เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาได้ด้วยโดยที่ไม่ต้องรอให้เชื่อมโยงจนครบ กระบวนการเสียก่อน ดังเรียกปัญญาที่เกิดจากการรับรู้สดับฟังว่าสุตมยปัญญา เรียกปัญญาที่เกิดจากการคิดว่าจินตามยปัญญา และเรียกปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติว่าภาวนามยปัญญา อย่างไรก็ตามกล่าวโดยรวมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติก็ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ แม้แต่ปัญญา ๓ ประเภทที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาอย่างถึงที่สุด ก็มิได้อาศัยการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ หากยังต้องมีองค์ประกอบอีก ๒ อย่างเป็นทุนเดิมหรือปัจจัยหนุน เพียงแต่ไม่เด่นเท่านั้น
                                                                                 *******
กิ่งธรรมจาก http://www.visalo.org

Sunday, January 15, 2012

อุดมคติ

 แด่ครู ครับ
 .....
 อุดมคติ
โดย พุทธทาสภิกขุ

 
        นี่ระวังให้ดี ; คนทุกคนจะเถียงว่า เราก็มีอุดมคติของเรา แต่แล้วมันเป็นอุดมคติของใครกันแน่ ของความโง่หรือของความฉลาด ? มันอาจจะเป็นอุดมคติที่นำไปสู่ความร้อนใจตลอดกาลก็ได้ ทีนี้ เมื่อ สอนให้บูชาอุดมคติอย่างเดียวนั้น มันก็เลยไม่พอ ; มันต้องสอนอุดมคติที่ถูกต้องด้วย. อย่างเดี๋ยวนี้เราได้ยินได้ฟังคนที่บูชาอุดมคติสูงสุดกลุ่มหนึ่ง คือพวกฮิปปี้ซึ่งคุณก็คงเคยอ่านหนังสือพิมพ์เรื่องพวกฮิปปี้ ระวังให้ดีมันจะเกิดขึ้นในตัวเราเอง โดยไม่ทันรู้ก็ได้ คือการหลงบูชาอุดมคติโดยที่ไม่รู้จักอุดมคติที่ถูกต้อง ก็เลยเอาความต้องการของเนื้อหนังนี้เป็นอุดมคติไปหมด.
          การศึกษาสมัยนี้ สอนให้ยุ่งให้บูชาอุดมคติ แล้วให้รักความเป็นอิสรภาพเสรีภาพ อะไรนี้เป็นอุดมคติ ; แต่เมื่อมันไม่ถูกอุดมคติอันแท้จริง คนก็เลยสร้างอุดมคติเอาตามความพอใจของตน. คนประเภทฮิปปี้จึงเกิดขึ้นในโลก, ไม่ใช่เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้. ครั้งพุทธกาลก็มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ ที่สอนกันให้หลงอุดมคติ แล้วมันผิดตัวอุดมคติ มันเป็นอุดมคติที่ไม่ควรจะเป็นอุดมคติ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องทะลุอย่างนี้. เรียกว่าทะลุกลางปล้องขึ้นมา. ทีนี้เดี๋ยวนี้ การศึกษาของโลกมันเจริญมาก สอนเรื่องปรัชญามากเกินไป สอนให้มีอุดมคติ สำหรับให้หลงใหลมากเกินไป หลงใหลในอิสรภาพมากเกินไป มันก็มีผลเป็นฮิปปี้อย่างเดี๋ยวนี้เกิดขึ้น.
          เรามีหลักจริยธรรมหรือศีลธรรมอยู่ มันก็เป็นความกดดันอันหนึ่ง คือว่าเราต้องรับถือ ; แต่แล้วมันผิดฝาผิดตัวต่อเด็ก ๆ หรือคนหนุ่มคนสาวอย่างในโลกสมัยนี้ ที่ได้รับ การศึกษาอย่างสมัยปัจจุบัน ที่มัน ทำให้ทนต่อความกดดันของศีลธรรมไม่ได้ มันจะทะลุกลางปล้องออกไป เป็นอุดมคติอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา. มนุษย์อุดมคติประเภทฮิปปี้นี้จึงมีขึ้นมาในโลก ; แล้วเมื่อเรากำลังเดินตามก้นพวกฝรั่งแล้ว ไม่เท่าไรจะมาถึงพวกเรา จึงเป็นของที่ดาษดื่นไปทั่วโลก.
          การศึกษาของโลกปัจจุบันนี้ ไม่มีพูดสอนเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ แยกตัวออกมาเสียจากศาสนาเลย ไม่เกี่ยวกับการศึกษาเลย ; แล้วสอนให้ imagine ต่าง ๆ เกี่ยวไปตามแนวทางของปรัชญา. มันก็หลงอุดมคติของเสรีภาพ หลงอุดมคติของกิเลสตัณหา, มันก็มีผลอย่างที่ว่านี้ : มัน ขาดความรู้ที่ถูกต้องของธรรมชาติ, มีแต่ปรัชญาที่เฟ้อ ที่กำลังเรียนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในเรื่องเฟ้อ, มันก็เลยไม่มีหลักในการที่จะควบคุมตัวเอง. ทีนี้ กามสำนึก คือความสำนึกในกาม ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเป็นกิเลสอนุสัย มันก็เดือดขึ้นมาเป็นรูปปรัชญาของคนพวกนี้ ; นี่ปัญหาอย่างนี้จะมีมากขึ้นในโลก และทั่วไปของโลก.
          ทีนี้ ครูจะมีหน้าที่อย่างไร ? ก็คอยดูต่อไป ; ถ้าไม่รู้เท่าเรื่องนี้ ครูจะเป็นฮิปปี้เอง แล้วก็จะเป็นตัววัตถุสำหรับถูกชำระสะสาง ไม่ใช่เป็นผู้ชำระสะสาง. ขอให้มองเห็นชัด ๆ ว่า : วัตถุนิยม นี้แหละ กำลังเป็นสิ่งที่ทำให้เรากำลังยุ่งยากลำบาก เรากำลังหลับหูหลับตาไปตามวัตถุนิยม ตามก้นพวกฝรั่ง ; ทิ้งเรื่องเดิม ๆ ของปู่ย่า ตายาย ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ทางมโนนิยม.
          ทีนี้ วัตถุนิยมอย่างที่มันเป็นเนื้อหนังนี้ มันก็สร้างปรัชญาของมันเองมากขึ้น ๆ ก็กำลังเมาปรัชญาในมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง ; ทีนี้ก็เลยเข้าใจเอา หรือนึกคิดเอา รู้สึกเอา เรา สร้างมโนนิยม หรือว่าจิตนิยมตามแบบของเราขึ้นมาใหม่ ตามพอใจของตนเอง เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น. นี่คือปัญหาที่โลกกำลังประสบอยู่ในเวลานี้, นี่เรียกว่า จะเป็นปัญหาของครูบาอาจารย์พวกไหนจะแก้ไขมัน.
*******
กระดานธรรม http://www.buddhadasa.org

Tuesday, January 10, 2012

วันเด็ก

คำขวัญวันเด็ก ปี ๒๕๕๕
"สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี"
วันเด็ก


       งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

      รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและ นอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

        งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้

คำขวัญวันเด็ก

       คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีดังนี้ 

ปี นายกรัฐมนตรี คำขวัญ
พ.ศ.2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ.2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ.2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ.2504 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ.2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ.2507 จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ.2508 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ.2509 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ.2510 จอมพลถนอม กิตติขจร อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ.2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ.2512 จอมพลถนอม กิตติขจร รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ.2513 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ.2515 จอมพลถนอม กิตติขจร เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ.2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ.2517 สัญญา ธรรมศักดิ์ สามัคคีคือพลัง
พ.ศ.2518 สัญญา ธรรมศักดิ์ เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ.2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ.2520 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ.2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ.2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ.2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ.2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ.2525 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ.2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ.2527 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ.2528 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ.2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2532 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2533 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2534 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ.2535 อานันท์ ปันยารชุน สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ.2536 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2537 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2538 ชวน หลีกภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2539 บรรหาร ศิลปอาชา มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ.2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ.2541 ชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ.2542 นายชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ.2543 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ.2544 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ.2545 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ.2546 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ.2547 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ.2548 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ.2549 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ.2550 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ.2551 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ.2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ.2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ.2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ.2555 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร        "สามัคคี  มีความรู้  คู่ปัญญา  คงรักษาความเป็นไทย                                                 ใส่ใจเทคโนโลยี"
ภาพจาก มติชน ออนไลน์

เพลงวันเด็ก
       สำหรับเพลง "หน้าที่ของเด็ก" หรือเพลง "เด็กเอ๋ยเด็กดี" นี้ ประพันธ์คำร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนนวนิยายชื่อดังคนหนึ่งของไทย ซึ่งท่านเป็นพี่สาวของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534
       ครูชอุ่ม ได้เล่าถึงที่มาของเพลง "หน้าที่ของเด็ก" ว่า ในอดีต เมื่อ ปี พ.ศ. 2498 ทางสหประชาชาติได้ ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก โดยนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมจัดงานวันเด็ก เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
      รัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศ ทั้งในระบบโรงเรียนและ นอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ และ ศาสนา
        ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติคนหนึ่ง ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้นำเนื้อหาดังกล่าว มาแต่งเป็นกลอนให้คล้องจองกัน และขอให้ครูเอื้อ สุนทรสนานแต่งทำนองให้ จากนั้น ก็ได้มีการนำเพลงนี้ ไปเปิดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ในวันเด็กแห่งชาติทุกปี จนถึงทุกวันนี้




   
เนื้อเพลงเด็กดี
เด็กเอ๋ยเด็กดี
ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
เด็กเอ๋ยเด็กดี
ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
หนึ่ง นับถือศาสนา
สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
              ห้า ยึดมั่นกตัญญู
              หก เป็นผู้รู้รักการงาน
              เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ
              ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
             แปด รู้จักออมประหยัด
             เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล
             น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ
             ให้เหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา
                                 สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์
                                 รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา
                                 เด็กสมัยชาติพัฒนา
                                 จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ
                                     เด็กเอ๋ยเด็กดี
                                     ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
                                     เด็กเอ๋ยเด็กดี
                                     ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
                                                 (ซ้ำตั้งแต่ต้นอีกครั้ง)
  เรามาร่วมร้องเพลง เด็กดีกัน เด็กก็ร้องได้ ผู้ใหญ่ก็ร้องดี ยิ่งเป็นคุณครู ต้องร้องเสียงดังถึง 3 เท่า ผู้ใหญ่ร้องไป เล่าอดีตไป สนุกครับ

*******
ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org

Wednesday, January 4, 2012

อาจารย์ของพระอาจารย์

อาจารย์ของพระอาจารย์
โดยพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ 


         พระอาจารย์ของพระอาจารย์หลินยี่มีชื่อว่า พระอาจารย์ฮวงโป ในสมัยที่พระอาจารย์หลินยี่ยังเป็นเณรน้อย หลังจากที่ท่านจำอยู่ที่วัดระยะหนึ่ง ท่านมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนธรรมะโดยตรงจากพระอาจารย์ของท่าน ศิษย์ผู้พี่ของท่านได้แนะนำว่า "ทำไมท่านไม่เข้าไปขอให้พระอาจารย์สอนอะไรท่านบ้าง" พระอาจารย์หลินยี่กล่าวว่า "แล้วเราควรจะถามอะไร" ศิษย์ผู้พี่ของท่านแนะว่า "ท่านอาจถามว่า แก่นคำสอนของพระพุทธศาสนาคืออะไร" สามเณรน้อยหลินยี่จึงเดินเข้าไปขอพบและขอความรู้จากพระอาจารย์ "พระอาจารย์ครับ อะไรคือแนวคิดหลักของพระพุทธศาสนา" พระอาจารย์ได้ชกเข้าให้หนึ่งที สามเณรน้อยยังคงถามอีกครั้ง "แต่...พระอาจารย์ครับ โปรดบอกหน่อยได้ไหมว่า อะไรคือแนวคิดหลักของพระพุทธศาสนา" ท่านมอบหมัดแทนคำตอบให้เป็นครั้งที่สอง "พระอาจารย์ครับ อาจารย์จะตีผมก็ได้ แต่โปรดบอกหน่อยได้ไหมว่า อะไรคือแนวคิดหลักของพระพุทธศาสนา" สามเณรหลินยี่ได้หมัดที่สาม และนั่นทำให้สามเณรน้อยรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นไม่นานเณรน้อยหลินยี่ก็ตัดสินใจจากวัดของท่านไปด้วยความคิดที่ ว่า พระอาจารย์ไม่มีเมตตาต่อท่านเอาเสียเลย ในระหว่างที่ท่านกำลังเดินทางจารึกแสวงบุญ ท่านได้พบกับพระอาจารย์อีกท่านที่มีชื่อว่า พระอาจารย์ดายู (Master Da-Yu) ท่านถามสามเณรน้อยหลินยี่ว่า "ท่านเดินทางมาจากที่ใด" ท่านหลินยี่ตอบ "ข้าพเจ้าเดินทางมาจากสำนักของพระอาจารย์ฮวงโป" "แล้วเหตุใดท่านจึงจากมาเล่า" "ข้าพเจ้าได้ถามท่านถึง 3 ครั้งว่า อะไรคือแนวคิดหลักของพระพุทธศาสนา และท่านก็ได้ชกข้าพเจ้าทั้ง 3 ครั้ง ข้าพเจ้าจึงจากท่านอาจารย์มา" พระอาจารย์ดายูกล่าวว่า "เจ้าคนเขลา เจ้าไม่เห็นหรอกหรือว่าอาจารย์ของเจ้านั้นเมตตากับเจ้าอย่างมากมายเหลือเกิน จงกลับวัด และไปกราบขอขมาต่ออาจารย์"
          สามเณรน้อยหลินยี่เดินทางกลับวัด และไปกราบขอขมาต่อพระอาจารย์ฮวงโป "เจ้ามาจากไหน" หลินยี่น้อยกล่าว "ผม ได้พบอาจารย์ท่านหนึ่งนามว่า ดายู ผมได้เล่าให้ท่านฟังว่าผมถามคำถามพระอาจารย์ 3 ครั้ง แต่ได้รับหมัดกลับมาแทนทั้ง 3 ครั้ง พระอาจารย์ดายูมองผมและกล่าวว่า เจ้าคนเขลา เจ้าไม่เห็นว่าพระอาจารย์ของเจ้านั้นช่างเมตตา" พระอาจารย์ฮวงโปถามต่อไป "แล้วเจ้าทำอย่างไรหลังจากที่ท่านกล่าวเช่นนั้น" แท้จริงแล้วเมื่อพระอาจารย์ดายูกล่าวว่าเจ้าไม่เห็นความเมตตาของพระอาจารย์ นั่นทำให้หลินยี่น้อยตื่นขึ้นและกล่าวว่า "เข้าใจแล้ว แท้จริงแล้วสิ่งที่พระอาจารย์สอนก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย" สามเณรหลินยี่ได้ตระหนักรู้แล้วว่าการชกทั้ง 3 ครั้งนั้นคือคำสอนที่แท้จริงของศาสนาพุทธ เขาจึงหัวเราะแล้วหัวเราะอีก เมื่อเห็นเช่นนั้น พระอาจารย์ดายูจึงตะคอกใส่ว่า "เจ้าเพิ่งบอกกับเรา ว่า พระอาจารย์ของเจ้านั้นไม่เมตตาต่อเจ้าเลย ตอนนี้เจ้ายังกล่าวว่า สิ่งที่พระอาจารย์สอนก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย แล้วเจ้าจะต้องการอะไรอีก"
           เธอรู้ไหมว่าสามเณรน้อยหลินยี่ตอบโต้ไปอย่างไร ท่านชกพระอาจารย์ดายูเข้าให้หนึ่งที พระอาจารย์ดายูกล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม เจ้าก็เป็นลูกศิษย์ของเขา ไม่ใช่ลูกศิษย์ของข้า ข้าไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวอะไรกับเจ้าอีกต่อไป" แล้วท่านก็จากไป สามเณรน้อยหลินยี่ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระอาจารย์ฟัง พระอาจารย์ฮวงโปกล่าวว่า "ถ้าเจ้าหมอนั่นมาที่นี่ละก็ ข้าจะให้สักหมัด" สามเณรน้อยหลินยี่กล่าวว่า "ทำไมต้องรอ เอาไปได้เลย" พร้อมกับชกพระอาจารย์ฮวงโปเข้าให้หนึ่งที พระอาจารย์เรียกพระอุปัฏฐากของท่าน "มานำตัวเจ้าบื้อนี่ออกไปที" นี่คือเรื่องราวระหว่างพระอาจารย์หลินยี่และพระอาจารย์ของท่าน มีใครอยากจะลองดูบ้างไหม มีใครกล้าไหม ...๐
*******
จากกระดานดำ http://www.thaiplumvillage.org