ครู เหม เวชกร
จากนิตยสาร สารคดี
เหม เวชกร จิตรกรที่มีชื่อเสียงของไทย เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2446 ที่กรุงเทพฯ ในตระกูลขุนนางเก่า บิดาคือ หุ่น ทินกร ณ อยุธยา และมารดา ม.ล.สำริด พึ่งบุญ ณ อยุธยา หลังจากที่บิดามารดาแยกทางกัน เขาไปอยู่กับลุงคือ ม.ร.ว.แดง ทินกร ผู้ดูแลช่างอิตาเลียนที่มาก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เหมจึงพลอยได้ใกล้ชิดกับช่างชุดนี้ด้วย โดยเฉพาะ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) หนึ่งในคณะจิตรกรผู้เขียนภาพพระราชประวัติบุรพกษัตริย์ ซึ่งได้กลายเป็นครูศิลปะคนแรกของเหม หลังจากนั้นชีวิตก็ผกผันไปเป็นช่างเครื่องเรือโยง และช่างเครื่องในงานสร้างเขื่อนพระราม 6 ก่อนจะกลับเข้ากรุงเทพฯ เมื่ออายุราว 20 ปี มาเป็นช่างเขียนในกรมตำราทหารบก
![]() |
ภาพวาดโดย ครูเหม เวชกร |
ต่อมาเขาร่วมกับเพื่อนตั้งสำนักพิมพ์ เพลินจิตต์ พิมพ์หนังสือนิยายเล่มละ 10 สตางค์ ปรากฏว่าขายดีมาก ด้วยมีภาพปกสีสันสวยงามฝีมือเหม เวชกร เล่มต่อมาก็ขายดีจนบางเล่มถึงกับพิมพ์ซ้ำเป็นหมื่นฉบับ
เหมเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักวาดภาพปก ผลงานของเขาตีพิมพ์แพร่หลายไปทั่ว และได้รับความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง ราวปี 2478 เขาออกมาตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองชื่อ “คณะเหม” มีนักเขียนคนสำคัญเช่น ไม้ เมืองเดิม (ผู้ประพันธ์เรื่อง แผลเก่า)
![]() |
ภาพเขียนเทคนิค สีน้ำมันโดยครูเหม เวชกร |
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของชีวิตช่างเขียน เหมผลิตผลงานหลายหมื่นชิ้น มีตั้งแต่ภาพปก ภาพประกอบ นิยายภาพ หนังสืออ่านเล่น หนังสือเรียน ไปจนถึงรูปพระพุทธประวัติที่พิมพ์ให้เช่าใส่กรอบติดตามวัด ในสายตาของ “ศิลปิน” เขาเป็นได้เพียงช่างเขียน “งานตลาด” แต่สำหรับสาธารณชนแล้ว เขาคือผู้กำหัวใจของ “ความงามอย่างไทย” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฝีมือการวาดภาพของเขา เคยพระราชทานพระราชวโรกาส ให้ครูเหมเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับเขาไว้เป็นจิตรกร ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย
เหมยังคงทำงานหนักจนกระทั่งสิ้นชีวิต สามทศวรรษหลังมรณกรรมของเหม ภาพประกอบเล็ก ๆ ที่เคยทำเงินให้เขาได้แค่ไม่กี่ร้อยบาทถูกประมูลในราคาเหยียบแสน และได้รับการยกย่องขึ้นทำเนียบศิลปินชั้นครูของเมืองไทย
เหม เวชกร ถึงแก่อสัญกรรม 17 เมษายน พ.ศ. 2497
วิดีทัศน์ รวบรวม ผลงานครูเหม เวชกร
*********
ปลายดินสอจาก http://www.sarakadee.com
No comments:
Post a Comment