กระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ
โดย พระไพศาล วิสาโล
โดย พระไพศาล วิสาโล
หากกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธหมายถึงกระบวนการที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่ง ปัญญา สาระของกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธก็ได้ถูกย่นย่อไว้แล้วในพุทธพจน์ข้างล่าง นี้
"ภิกษุ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา กล่าวคือ การเสวนาสัตบุรุษ การฟังสัทธรรม โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ" (๒๑/๒๔๙)
จากพุทธพจน์ข้างต้น สามารถแยกกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ๑. การรับรู้ ได้แก่การเสวนาสัตบุรุษ และการฟังสัทธรรม
๒. การคิด ได้แก่ โยนิโสมนสิการ
๓. การปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ
๒. การคิด ได้แก่ โยนิโสมนสิการ
๓. การปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ
การรับรู้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับรู้นั้นนอกจากประกอบด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือคำชี้แนะอันเป็นองค์ประกอบภายนอกแล้ว องค์ประกอบภายใน อันได้แก่ ความสามารถในการรับรู้เข้าใจก็มีความสำคัญอย่างมาก แม้จะได้ยินได้ฟังสิ่งดีงาม แต่หากรับรู้หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน การรับรู้ก็ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
ความคลาดเคลื่อนในการรับรู้อย่างแรกก็คือ การรับรู้ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่นได้ยินหรือเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ปัจจัยสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่อายตนะทั้ง ๕ เช่นหู หรือตา แต่อยู่ที่ใจหรือความรู้สึกนึกคิด คนที่กำลังหวาดกลัวด้วยไม่เคยเข้าป่า ย่อมเห็นรากไม้เป็นงูได้ง่าย ๆ ในทำนองเดียวกันพ่อที่กำลังกังวลกับงานการย่อมได้ยินไม่ตลอดว่าลูกกำลัง ปรึกษาเรื่องอะไร ส่วนคนที่กำลังคุมแค้นอยู่ในใจ ถ้ามีใครยิ้มให้ก็อาจมองว่าเขายิ้มเยาะตนก็ได้ พูดตามหลักปฏิจจสมุปบาทก็คือ สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ
การรับรู้คลาดเคลื่อนนั้นมิได้เป็นผลจากการปรุง แต่งของอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นเท่านั้น หากยังเกิดจากทัศนคติหรือทิฏฐิที่ฝังแน่นในใจด้วย เคยมีการทดลองโดยอาจารย์ผู้หนึ่งพาคนแปลกหน้าไปแนะนำให้นักศึกษา ๕ กลุ่มรู้จัก ในแต่ละกลุ่ม ก็แนะนำแตกต่างกันไป เช่นแนะนำว่าเป็นนักศึกษาบ้าง ศึกษานิเทศก์บ้าง อาจารย์บ้าง อาจารย์อาวุโสบ้าง และศาสตราจารย์บ้าง หลังจากนั้นอาจารย์ก็ให้นักศึกษาแต่ละชั้นกะประมาณความสูงของบุคคลผู้นั้น ปรากฏว่านักศึกษาแต่ละกลุ่มประเมินความสูงของชายผู้นั้นแตกต่างกันไป ที่น่าสนใจก็คือ ความสูงของคน ๆ นั้นในสายตาของนักศึกษาแต่ละกลุ่มจะขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นแนะนำตัวเอง ว่าอย่างไร “ศาสตราจารย์”จะมีความสูงมากที่สุด และที่สูงน้อยที่สุดคือ”นักศึกษา” นั่นหมายความว่า ยิ่งแนะนำตัวว่ามีสถานะทางสังคมสูงเท่าไร ก็ยิ่งมีความสูงในสายตาของนักศึกษามากเท่านั้น สรุปก็คือ การให้ค่าแก่สถานภาพทางสังคมมีผลต่อการรับรู้ของนักศึกษา(และคนทั่วไป) แม้จะเป็นเพียงการรับรู้ทางกายภาพ หรือการรับรู้ด้วยตาก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ ในกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ นอกจากจะให้ความสำคัญแก่ข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่จะรับรู้แล้ว สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือความสามารถในการรับรู้ ในทางพุทธศาสนาสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการรับรู้ตรงตามความเป็นจริงก็คือ สติ สติช่วยให้บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในใจ สามารถยกจิตจากอารมณ์และรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังประสบอย่างตรงตามความเป็นจริงได้ (active listening ที่กำลังพูดถึงในหลายวงการ ก็คือการฟังอย่างมีสติ ปลอดจากอคติและสมมติฐานล่วงหน้านั่นเอง) สติหากมีกำลังเพียงพอและต่อเนื่อง ยังจะช่วยให้บุคคลมองเห็นตัวเองอย่างลึกซึ้งจนตระหนักถึงทัศนคติหรือความ ลำเอียงทางเชื้อชาติ เพศ เศรษฐกิจ สถานะ ที่ฝังลึกอยู่ในตน อันเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้โลกตามความเป็นจริง
สติยังช่วยให้ปัญญาหรือความรู้ที่มีอยู่ ถูกดึงมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ด้วย และหากฝึกฝนมาดีพอ ทั้ง ๆ ที่เห็นหรือรับรู้สิ่งที่ไม่ดี แทนที่จะเป็นโทษก็อาจเป็นคุณด้วย พุทธศาสนาแม้จะเน้นการรับรู้สิ่งที่ดี แต่เมื่อมีเหตุจะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ท่านก็สอนให้รู้จักเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี พระเถระบางรูปในสมัยพุทธกาล เช่น พระลกุณฑกภัททิยะเห็นนางคณิกาหัวเราะแย้มยิ้ม แทนที่จะเกิดกามราคะในใจ ท่านกลับพิจารณาเป็นอารมณ์ จนเกิดความสลดสังเวชในสังขาร และบรรลุอนาคามิผลทันที ยิ่งพระนาคสมาลด้วยแล้ว ท่านบรรลุอรหัตผลขณะเห็นผู้หญิงฟ้อนรำกลางถนนด้วยซ้ำ
ในพุทธศาสนามีคำว่า อินทรียสังวร หรือการสำรวมอินทรีย์ หมายถึงการระวังไม่ให้อกุศลธรรมครอบงำใจเมื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ มักเข้าใจกันว่าอินทรียสังวรหมายถึงการระวังหูระวังตาไม่ไปรับรู้รับเห็น สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม นี้ยังเป็นความหมายที่แคบ การสำรวมอินทรีย์ที่แท้จริงหมายความรวมถึง การรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่เกิดอกุศลแม้จะเห็นสิ่งไม่ดีไม่งาม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายคำนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าหมายถึง"การใช้อินทรีย์ให้เป็น" ความหมายดังกล่าวมีความสำคัญมาก การฝึกฝนอบรมเยาวชน(และผู้ใหญ่)ที่แล้วมาเน้นให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี (เช่น สื่อลามก และสื่อรุนแรง) แต่การสอนเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะทุกวันนี้สิ่งดังกล่าวได้แพร่สะพัดไปทั่ว และตามเข้าไปถึงห้องนอน (โดยผ่านโทรทัศน์ วีดีโอ และคอมพิวเตอร์) ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนยุคบริโภคนิยมไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนให้เยาวชน(และผู้ใหญ่)รู้ว่าจะวางใจอย่าง ไรเมื่อประสบพบเห็นสิ่งเหล่านี้ พูดง่าย ๆ คือฝึกให้เป็นฝ่ายรับที่ชาญฉลาด แทนที่จะเอาแต่หลบเลี่ยง(ซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้ว)
แน่นอนว่าสติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากสำหรับอินทรียสังวร แต่อินทรียสังวรจะเกิดผลดีได้ต้องอาศัยปัญญาหรือการรู้จักคิดด้วย นี้เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการ
ก่อนที่จะพูดต่อไปถึงเรื่องโยนิโสมนสิการ ควรกล่าวด้วยว่ายังมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การเข้าใจเนื้อหาสาระหรือจับประเด็นได้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ในกรณีที่เป็นการฟังหรือการอ่าน การรับรู้ที่ถูกต้องมิได้หมายความว่าได้รับรู้ถ้อยคำอย่างถูกต้องครบถ้วน เท่านั้น หากยังรวมไปถึงการเข้าใจเนื้อหาหรือสามารถจับประเด็นที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ สื่อได้ และถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือสามารถเข้าใจอรรถหรือจุดมุ่งหมายของเนื้อหาดัง กล่าว ประเด็นนี้จะได้กล่าวต่อไป
การคิด
โยนิโสมนสิการคือการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี สามารถจัดได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ โยนิโสมนสิการแบบปลุกปัญญา คือการคิดเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งตามสภาวะหรือความเป็นจริง โยนิโสมนสิการประเภทนี้มุ่งให้เกิดโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ เข้าถึงอิสรภาพทางจิตและปัญญา แต่ในระดับสามัญหรือโลกียธรรมหมายถึงการคิดเพื่อให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น ส่วนโยนิโสมนสิการอีกประเภทหนึ่งคือ โยนิโสมนสิการแบบเสริมสร้างคุณภาพจิต เป็นการใช้ความคิดเพื่อให้เกิดกุศลธรรม เป็นอุบายลดโลภะ โทสะและโมหะ โดยใช้ธรรมฝ่ายดีมากดข่มหรือทดแทน
พระพรหมคุณาภรณ์ได้แจกแจงโยนิโสมนสิการ ๒ ประเภทดังกล่าวออกมาเป็น ๑๐ วิธีอย่างละเอียด ผู้สนใจสามารถอ่านได้จาก พุทธธรรม จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้
อย่างไรก็ตาม ขอกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้จักคิดหรือเกิดโยนิโสมนสิการก็คือการรู้จักตั้งคำ ถาม คำถามนั้นเป็นตัวนำความคิดและกำหนดการรับรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ พระพุทธองค์ได้ใช้คำถามในการกระตุ้นให้เกิดปัญญาบ่อยครั้งมาก อันที่จริงการที่มีพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าชายสิทธัตถะหมั่นตั้งคำ ถามกับตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรถึงจะพ้นทุกข์ได้ คำถามนี้คำถามเดียวเท่านั้นที่ทำให้ทรงสละวังออกบวช ละทิ้งอาฬารดาบส อุททกดาบส และเลิกละการบำเพ็ญทุกรกริยา จนค้นพบสัจธรรม อันทำให้พ้นทุกข์สิ้นเชิง
คำถามอีกเช่นกันที่ทำให้องคุลีมาลฉุกคิดขึ้นมา เลิกไล่ล่าพระพุทธองค์ และสนใจสดับฟังธรรมจากพระองค์ คำถามนั้นก็คือ"เราหยุดแล้ว แต่เหตุใดท่านจึงยังไม่หยุด ?"
เมื่อถูกลูกศรเสียบอก ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องหาคำตอบคืออะไร ถามหาว่าใครยิงธนู ? ธนูมาจากไหน ? ทำด้วยอะไร ? หรือตอบให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะถอดลูกธนูออกมาได้ ? คำถามเหล่านี้พระพุทธองค์ได้ใช้ในการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดฉุกคิดขึ้นมา และสนใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ แทนที่จะคอยจะหาคำตอบในทางอภิปรัชญา ว่า โลกเที่ยงหรือไม่ ?คนเรามาจากไหน ? ตายแล้วไปไหน ? ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ทำให้ชีวิตว่างเปล่าและหลงทิศหลงทาง
กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่รู้จัก คิดหรือคิดไม่ถูกวิธี ขณะเดียวกันคนจะคิดเป็นหรือคิดถูกวิธีได้ก็เพราะรู้จักตั้งคำถาม กระบวนการศึกษาที่ถูกต้องจึงควรให้ความสำคัญแก่การฝึกให้รู้จักตั้งคำถาม ด้วย มิใช่เก่งแต่การแสวงหาหรือจดจำคำตอบอย่างเดียว
เนื่องจากการเรียนรู้แบบต่าง ๆ พูดถึงเรื่องการคิดไว้มากแล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวในที่นี้มากนัก
![]() |
การปฏิบัติ
ในทางพุทธศาสนา การปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ขาดการปฏิบัติย่อมมิใช่การเรียนรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูก ต้อง นี้อาจเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การศึกษาแบบพุทธแตกต่างจากการศึกษาแบบตะวันตก หลายสำนัก เพราะฝ่ายหลังนั้นเน้นการใช้ความคิดล้วน ๆ จึงเป็นการเรียนรู้ในระดับพุทธิปัญญา(intellect)
การศึกษาหรือสิกขาในทางพุทธศาสนา ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกสั้น ๆ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ ส่วนนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ นอกเหนือจากการสดับฟัง การอ่าน และการคิด
พึงสังเกตว่าการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงเน้นดังปรากฏในพุทธพจน์ต้นบทความก็ คือการปฏิบัติที่เรียกว่าธรรมานุธรรมปฏิบัติ คำนี้มักแปลกันว่า ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม หรือปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ พระธรรมปิฎกให้อธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึง"ปฏิบัติธรรมถูกหลัก คือทำให้ข้อปฏิบัติย่อยเข้ากันได้ สอดคล้องกันและส่งผลแก่หลักการใหญ่ เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ต้องการ" (พุทธธรรม หน้า ๖๘๔) พูดง่าย ๆ คือปฏิบัติตรงตามจุดมุ่งหมาย
การปฏิบัติให้ตรงตามจุดมุ่งหมายมิใช่เรื่องง่าย พระพุทธองค์เคยตรัสกับพระสารีบุตรว่า ผู้ที่ยินดีในธรรมานุธรรมปฏิบัติ นับว่าหาได้ยาก แม้ว่าในที่นี้พระองค์จะทรงหมายถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตผล แต่ในระดับโลกียธรรมธรรมานุธรรมปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น นอกจากจะต้องรู้ข้อธรรมแล้ว ยังต้องรู้จุดมุ่งหมายของธรรมข้อนั้น ๆ ด้วย จึงจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่นักปฏิบัติเป็นอันมาก แม้จะรู้ข้อธรรมแต่ไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย ดังนั้นเราจึงเห็นคนถือศีลจำนวนไม่น้อย เกิดความหลงตัวหรือยกตนข่มทานว่าสมาทานศีลมากกว่าหรือเคร่งกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ศีลนั้นมีจุดหมายเพื่อการลดละและขัดเกลาตนเอง น้อมจิตสู่ความสงบสำหรับเป็นฐานสู่สมาธิและปัญญา ในทำนองเดียวกันหลายคนถือสันโดษแล้วก็เลยเฉื่อยชา ไม่เอางานเอาการทั้ง ๆ ที่สันโดษนั้นพระองค์ทรงสอนเพื่อผู้คนจะได้เอากำลังและเวลาที่เคยปรนเปรอตน ไปใช้ในการสร้างสรรค์ความดีงามทั้งสำหรับตนและส่วนรวม อีกตัวอย่างคือสุขและสัปปายะ จุดมุ่งหมายของทั้ง ๒ ประการ เพื่อเอื้อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยดี แต่คนเป็นอันมาก เมื่อได้รับความสุขและอยู่ในที่สบาย(สัปปายะ) ก็พอใจเพียงเท่านั้น หยุดนิ่ง ไม่สนใจที่จะเพียรพยายามพัฒนาตน
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นก็เพื่อจะชี้ว่า นอกจากจะให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติในฐานะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการ เรียนรู้แล้ว การเข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติแต่ละอย่างก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ จึงไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถชี้แนะสิ่งดีงาม(ธรรม)แก่ศิษย์แล้ว ยังจะต้องเข้าใจกระจ่างชัดในจุดมุ่งหมาย(อรรถ)ของสิ่งเหล่านั้นด้วย พร้อมกันนั้นก็สามารถช่วยให้ศิษย์รู้จักคิด สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของสิ่งที่ตนสอน จับหลักจับประเด็นได้ พร้อมกับเข้าใจจุดมุ่งหมายของหลักหรือสาระเหล่านั้นได้ด้วย (พระพรหมคุณาภรณ์เรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์) เมื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายแล้ว ก็สามารถประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เกิดผลได้ในทุกสถานการณ์ หรือสามารถบูรณาการสิ่งเหล่านั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตประจำวัน ได้ คนเป็นอันมากไม่สามารถเอาความรู้มาใช้ในประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของความรู้เหล่านั้น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือแม้แต่ศาสนา จึงเป็นเพียงแค่ความรู้ในตำราที่ใช้ประโยชน์เฉพาะเวลาสอบหรือโต้เถียงกัน เท่านั้น ในทำนองเดียวกันวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่มิได้ช่วยให้คนรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเลย
ผู้ที่สนใจการปฏิบัติในฐานะที่เป็นกระบวนการเรียน รู้ ขอแนะให้ดูตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากบทความเรื่อง"ปลูกผักสร้างคนที่ โรงเรียนวัดวังสวัสดี"ใน สานปฏิรูป ฉบับที่ ๑๔ เดือนเมษายน ๒๕๔๒ บทความนี้เป็นเรื่องของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยใช้การปลูกผักเป็นสื่อหรืออุบาย เด็กจะเรียนรู้คณิตศาสตร์ ศีลธรรม นิเวศวิทยา วิชาธุรกิจและการจัดการ รวมทั้งคุณค่าของการร่วมมือกัน จากการที่ได้ร่วมกันปลูกผัก ในด้านหนึ่งนี้คือการฝึกให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติและใช้ ความจริงเป็นตัวตั้ง (แทนที่จะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง) อีกด้านหนึ่งนี้เป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้และวิชาการทั้งหลายให้มา ผสานกันโดยมีแปลงผักเป็นจุดเชื่อมต่อ แต่แปลงผักจะนำผู้เรียนไปสู่โลกแห่งวิชาความรู้สาขาต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อครูหรือผู้แนะนำนั้นรู้ชัดในอรรถหรือจุดมุ่งหมายของกิจกรรม ต่าง ๆ ที่แนะให้เด็กทำ หาไม่แปลงผักก็มีความหมายเพียงแค่อาหารกลางวันราคาถูกหรือคะแนนเสริม ประสบการณ์เท่านั้น
ควรกล่าวย้ำด้วยว่า การปฏิบัติที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การทำ"การบ้าน"หรือการทำแบบฝึกหัดในหนังสือเท่า นั้น หากยังหมายถึงการพาตนออกจากห้องเรียนสู่โลกกว้าง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่งท่ามกลางสังคม เพื่อรู้จักชีวิตและความเป็นจริง
การรับรู้ การคิด และการปฏิบัตินี้ ในที่สุดก็จะเชื่อมกันเป็นวัฎจักร เพราะเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้รู้จักคิดได้ดีขึ้น และเกิดความรู้ใหม่แล้ว ยังทำให้เกิดทัศนคติใหม่ เกิดความใฝ่รู้ มองสิ่งต่าง ๆ ว่าเอื้อให้เกิดปัญญาได้ทั้งนั้น อีกทั้งยังอาจเกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่นมากขึ้น เช่นเห็นว่าการร่วมมือกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น ทัศนคติเหล่านี้ย่อมเปิดใจให้รับรู้สิ่งต่าง ๆได้มากขึ้น ละเอียดลออถี่ถ้วนขึ้น เรียกว่าเปิดใจกว้างและเป็นกลางได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มสมรรถนะในการใช้อินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ การรับรู้เช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการคิดและการปฏิบัติที่เกื้อกูลเป็นกุศล มากขึ้น เอื้อให้เกิดความเจริญแห่งปัญญา และนำไปสู่ความงอกงามแห่งชีวิตและสังคมในที่สุด
นอกจากการสัมพันธ์เชื่อมโยงจนครบวงจรแล้ว ในทางพุทธศาสนายังเห็นว่า ทั้งการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติ ในตัวมันเองก็เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาได้ด้วยโดยที่ไม่ต้องรอให้เชื่อมโยงจนครบ กระบวนการเสียก่อน ดังเรียกปัญญาที่เกิดจากการรับรู้สดับฟังว่าสุตมยปัญญา เรียกปัญญาที่เกิดจากการคิดว่าจินตามยปัญญา และเรียกปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติว่าภาวนามยปัญญา อย่างไรก็ตามกล่าวโดยรวมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติก็ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ แม้แต่ปัญญา ๓ ประเภทที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาอย่างถึงที่สุด ก็มิได้อาศัยการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ หากยังต้องมีองค์ประกอบอีก ๒ อย่างเป็นทุนเดิมหรือปัจจัยหนุน เพียงแต่ไม่เด่นเท่านั้น *******
กิ่งธรรมจาก http://www.visalo.org
No comments:
Post a Comment