Tuesday, November 29, 2011

บรมครู

  พระพุทธเจ้าบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของมนุษย์และเทวดา
      รูเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นบุคคลที่คอย สั่งสอน แนะนำ ช่วยบอกทาง รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ชื่อว่าเป็นบรมครูที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะด้านการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ พุทธองค์กล่าวว่า บุคคลในโลกมีหลายจำพวก มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจแตกต่างกัน เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า เป็นการกำหนดระดับของผู้เรียน คือ หนึ่ง พวกที่มีปัญญาฉลาดเปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที สอง พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง ได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป สาม พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง และสี่ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของสัตว์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงสอนธรรมะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก 
          สื่อที่ทรงใช้ คื่อสื่อบุคคล และใช้ระบบเครื่อข่ายยิ่งสร้างเครือข่ายที่มั่นคงเท่าธรรมะที่ทรงสั่งสอนก็ไปเกิดขึ้นในใจของผู้ได้รับได้นำไปปฎิบัติเท่านั้น รูปแบบของระบบเครือข่ายจึงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลนานมาแล้ว
          สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในพุทธวิธีการสอนของพระองค์ คือ เทคนิคการสอนที่อาศัยอุปกรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติประกอบการอธิบาย ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันเรียกว่าสื่อประกอบการสอนนั่นเอง หากวิเคราะห์เนื้อหาวิชาที่พระพุทธองค์ทรงสอน โดยเฉพาะวิชาทางธรรมเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก อีกทั้งยังเป็นสัจธรรมที่แปลกใหม่ ต้องต่อสู้กับลัทธิความเชื่อของคนในสมัยนั้นให้มีความเข้าใจใหม่ว่า กรรมคือเครื่องกำหนดการกระทำของบุคคล บุคคลไม่สามารถลบล้างสิ่งที่ตนกระทำได้จากน้ำหรือการทรมานร่างกายตน บุคคลจะดีร้ายย่อมขึ้นอยู่ที่กรรมหรือการกระทำเป็นตัวกำหนด เหล่านี้คือสิ่งท้าทายที่พุทธองค์ได้กระทำ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระองค์ทรงเป็นบรมครูเอกของโลก ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องสื่อหรืออุปกรณ์การสอนที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในอดีต จึงควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ขอยกตัวอย่างสื่อที่ทรงใช้ในสมัยพุทธกาลดังนี้
          ในช่วงแรกแห่งการตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมสอนพวกชฎิล ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิหนึ่งที่นับถือบูชาไฟ พระองค์ก็ทรงใช้ไฟที่พวกชฎิลนับถือเป็นสื่อ แต่ทรงเปลี่ยนเป็นไฟภายใน คือ ไฟราคะ ไฟโทสะไฟโมหะ เมื่อจบการเทศนาอดีตนักบวชชฎิลได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นอกจากนี้ยังมีสื่อที่เป็นรูปธรรมคือ การใช้สิ่งของที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นสื่อ บางครั้งทรงใช้ปรากฏการณ์ที่ผ่านเข้ามา ดังเช่น ในช่วงฤดูฝนพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าพักจำพรรษาที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี ทรงใช้เมฆฝนประกอบการสอนภิกษุทั้งหลายว่า
          บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ 4 จำพวกนี้ที่ปรากฏอยู่ในโลก คือ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดแต่ไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตกแต่ไม่คำราม คือบุคคล บางคนในโลกนี้ชอบทำแต่ไม่พูด บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ที่ไม่พูดและไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูด และชอบทำ
          นอกจากนี้ในบางเวลาเมื่อพระองค์กับพระสาวกทั้งหลายพักตามใต้ร่มไม้ในป่า ก็ทรงใช้สื่อใกล้ตัวและมีอยู่ล้อมรอบเช่น ใบไม้เป็นสื่อประกอบการสอน เช่นคราวหนึ่งทรงประทับอยู่ที่ป่าไม้ประดู่ลาย ทรงหยิบใบประดู่ลายขึ้นมากำไว้ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ใบไม้ในกำมือของพระองค์กับใบไม้ที่อยู่บนต้น อย่างไหนมากกว่ากัน” ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลว่า “ใบไม้บนต้นมากกว่าที่ทรงกำไว้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” จากนั้น จึงทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สิ่งที่พระองค์รู้ แต่มิได้สอนนั้นมีอีกมาก เหมือนใบไม้บนต้นไม้ ที่ไม่สอนเพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ที่นำมาสอนเท่ากับใบไม้ในกำมือ คือ สอนเรื่องทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ” อันจะเป็นประโยชน์ต่อมหาชนเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร โลกนี้เที่ยงหรือ ไม่เที่ยง จัดว่าเป็นอัพยากตปัญหา อันเป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ด้วยว่าเป็นความรู้ที่ไม่นำไปสู่หนทางที่จะพ้นทุกข์ได้ เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงใช้สื่อประกอบการสอนพุทธบริษัทยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่นำเสนอนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ในสมัยพุทธกาล ยังไม่มีอุปกรณ์การสอนชนิดต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นไว้เพื่อการสอนโดยเฉพาะเหมือนสมัยปัจจุบัน หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็คงต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึง พระอัจฉริยภาพด้านการใช้สื่อการสอน เพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจในเนื้อหาธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้นและเวลาที่จะทรงไปสอนใครก็กำหนดวิธีการ วิเคราะห์ประวัติ สื่อที่ทรงนำไปสอน เป็นการวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล ควรคู่แล้วกับการขนานพระนามว่า พระพุทธเจ้าบรมครูเอกของโลกโดยแท้

       และที่สำคัญสิ่งที่พระองค์รู้ จะมอบให้แก่เหล่าสาวกไปเผยแผ่แก่ชาวโลกโดยไม่คิดปิดบัง  และแสดงความเป็นเจ้าของของสิ่งที่พระองค์พบ  และไม่เคยมีการจดลิขสิทธิ์เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิ่งที่พบ เหมือนที่มนุษย์โลกปัจจุบันนี้กระทำกัน  และบรรดาเหล่าสาวก เหล่าพุทธบริษัทที่รู้ธรรมะที่ตามพระองค์ก็สามารถนำนำไปเผยแผ่ต่อไป โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนอย่างที่เราทำกันในปัจุบัน 
      สิ่งที่พระองค์มุ่งหวังให้เกิด คือ รู้ตามที่พระองค์รู้
******* 
บูชาครูจาก http://www.uniserv.buu.ac.th

No comments:

Post a Comment