Tuesday, January 10, 2012

วันเด็ก

คำขวัญวันเด็ก ปี ๒๕๕๕
"สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี"
วันเด็ก


       งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

      รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและ นอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

        งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้

คำขวัญวันเด็ก

       คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีดังนี้ 

ปี นายกรัฐมนตรี คำขวัญ
พ.ศ.2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ.2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ.2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ.2504 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ.2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ.2507 จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ.2508 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ.2509 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ.2510 จอมพลถนอม กิตติขจร อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ.2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ.2512 จอมพลถนอม กิตติขจร รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ.2513 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ.2515 จอมพลถนอม กิตติขจร เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ.2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ.2517 สัญญา ธรรมศักดิ์ สามัคคีคือพลัง
พ.ศ.2518 สัญญา ธรรมศักดิ์ เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ.2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ.2520 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ.2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ.2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ.2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ.2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ.2525 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ.2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ.2527 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ.2528 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ.2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2532 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2533 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ.2534 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ.2535 อานันท์ ปันยารชุน สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ.2536 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2537 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2538 ชวน หลีกภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2539 บรรหาร ศิลปอาชา มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ.2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ.2541 ชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ.2542 นายชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ.2543 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ.2544 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ.2545 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ.2546 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ.2547 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ.2548 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ.2549 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ.2550 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ.2551 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ.2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ.2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ.2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ.2555 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร        "สามัคคี  มีความรู้  คู่ปัญญา  คงรักษาความเป็นไทย                                                 ใส่ใจเทคโนโลยี"
ภาพจาก มติชน ออนไลน์

เพลงวันเด็ก
       สำหรับเพลง "หน้าที่ของเด็ก" หรือเพลง "เด็กเอ๋ยเด็กดี" นี้ ประพันธ์คำร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนนวนิยายชื่อดังคนหนึ่งของไทย ซึ่งท่านเป็นพี่สาวของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534
       ครูชอุ่ม ได้เล่าถึงที่มาของเพลง "หน้าที่ของเด็ก" ว่า ในอดีต เมื่อ ปี พ.ศ. 2498 ทางสหประชาชาติได้ ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก โดยนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมจัดงานวันเด็ก เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
      รัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศ ทั้งในระบบโรงเรียนและ นอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ และ ศาสนา
        ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติคนหนึ่ง ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้นำเนื้อหาดังกล่าว มาแต่งเป็นกลอนให้คล้องจองกัน และขอให้ครูเอื้อ สุนทรสนานแต่งทำนองให้ จากนั้น ก็ได้มีการนำเพลงนี้ ไปเปิดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ในวันเด็กแห่งชาติทุกปี จนถึงทุกวันนี้




   
เนื้อเพลงเด็กดี
เด็กเอ๋ยเด็กดี
ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
เด็กเอ๋ยเด็กดี
ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
หนึ่ง นับถือศาสนา
สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
              ห้า ยึดมั่นกตัญญู
              หก เป็นผู้รู้รักการงาน
              เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ
              ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
             แปด รู้จักออมประหยัด
             เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล
             น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ
             ให้เหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา
                                 สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์
                                 รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา
                                 เด็กสมัยชาติพัฒนา
                                 จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ
                                     เด็กเอ๋ยเด็กดี
                                     ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
                                     เด็กเอ๋ยเด็กดี
                                     ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
                                                 (ซ้ำตั้งแต่ต้นอีกครั้ง)
  เรามาร่วมร้องเพลง เด็กดีกัน เด็กก็ร้องได้ ผู้ใหญ่ก็ร้องดี ยิ่งเป็นคุณครู ต้องร้องเสียงดังถึง 3 เท่า ผู้ใหญ่ร้องไป เล่าอดีตไป สนุกครับ

*******
ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org

No comments:

Post a Comment