Wednesday, January 18, 2012

กระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ

กระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ
โดย พระไพศาล วิสาโล 


          หากกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธหมายถึงกระบวนการที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่ง ปัญญา สาระของกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธก็ได้ถูกย่นย่อไว้แล้วในพุทธพจน์ข้างล่าง นี้ 
 
"ภิกษุ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา กล่าวคือ การเสวนาสัตบุรุษ การฟังสัทธรรม โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ" (๒๑/๒๔๙)
       จากพุทธพจน์ข้างต้น สามารถแยกกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
       ๑. การรับรู้ ได้แก่การเสวนาสัตบุรุษ และการฟังสัทธรรม
       ๒. การคิด ได้แก่ โยนิโสมนสิการ
       ๓. การปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

                                                                    การรับรู้
        จะเห็นได้ว่า การรับรู้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างมากแก่การรับรู้สิ่งที่ดีงามถูกต้อง(สัทธรรม) ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้จากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร(สัตบุรุษ)
       อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับรู้นั้นนอกจากประกอบด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือคำชี้แนะอันเป็นองค์ประกอบภายนอกแล้ว องค์ประกอบภายใน อันได้แก่ ความสามารถในการรับรู้เข้าใจก็มีความสำคัญอย่างมาก แม้จะได้ยินได้ฟังสิ่งดีงาม แต่หากรับรู้หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน การรับรู้ก็ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
      ความคลาดเคลื่อนในการรับรู้อย่างแรกก็คือ การรับรู้ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่นได้ยินหรือเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ปัจจัยสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่อายตนะทั้ง ๕ เช่นหู หรือตา แต่อยู่ที่ใจหรือความรู้สึกนึกคิด คนที่กำลังหวาดกลัวด้วยไม่เคยเข้าป่า ย่อมเห็นรากไม้เป็นงูได้ง่าย ๆ ในทำนองเดียวกันพ่อที่กำลังกังวลกับงานการย่อมได้ยินไม่ตลอดว่าลูกกำลัง ปรึกษาเรื่องอะไร ส่วนคนที่กำลังคุมแค้นอยู่ในใจ ถ้ามีใครยิ้มให้ก็อาจมองว่าเขายิ้มเยาะตนก็ได้ พูดตามหลักปฏิจจสมุปบาทก็คือ สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ
       การรับรู้คลาดเคลื่อนนั้นมิได้เป็นผลจากการปรุง แต่งของอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นเท่านั้น หากยังเกิดจากทัศนคติหรือทิฏฐิที่ฝังแน่นในใจด้วย เคยมีการทดลองโดยอาจารย์ผู้หนึ่งพาคนแปลกหน้าไปแนะนำให้นักศึกษา ๕ กลุ่มรู้จัก ในแต่ละกลุ่ม ก็แนะนำแตกต่างกันไป เช่นแนะนำว่าเป็นนักศึกษาบ้าง ศึกษานิเทศก์บ้าง อาจารย์บ้าง อาจารย์อาวุโสบ้าง และศาสตราจารย์บ้าง หลังจากนั้นอาจารย์ก็ให้นักศึกษาแต่ละชั้นกะประมาณความสูงของบุคคลผู้นั้น ปรากฏว่านักศึกษาแต่ละกลุ่มประเมินความสูงของชายผู้นั้นแตกต่างกันไป ที่น่าสนใจก็คือ ความสูงของคน ๆ นั้นในสายตาของนักศึกษาแต่ละกลุ่มจะขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นแนะนำตัวเอง ว่าอย่างไร “ศาสตราจารย์”จะมีความสูงมากที่สุด และที่สูงน้อยที่สุดคือ”นักศึกษา” นั่นหมายความว่า ยิ่งแนะนำตัวว่ามีสถานะทางสังคมสูงเท่าไร ก็ยิ่งมีความสูงในสายตาของนักศึกษามากเท่านั้น สรุปก็คือ การให้ค่าแก่สถานภาพทางสังคมมีผลต่อการรับรู้ของนักศึกษา(และคนทั่วไป) แม้จะเป็นเพียงการรับรู้ทางกายภาพ หรือการรับรู้ด้วยตาก็ตาม
       ด้วยเหตุนี้ ในกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ นอกจากจะให้ความสำคัญแก่ข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่จะรับรู้แล้ว สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือความสามารถในการรับรู้ ในทางพุทธศาสนาสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการรับรู้ตรงตามความเป็นจริงก็คือ สติ สติช่วยให้บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในใจ สามารถยกจิตจากอารมณ์และรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังประสบอย่างตรงตามความเป็นจริงได้ (active listening ที่กำลังพูดถึงในหลายวงการ ก็คือการฟังอย่างมีสติ ปลอดจากอคติและสมมติฐานล่วงหน้านั่นเอง) สติหากมีกำลังเพียงพอและต่อเนื่อง ยังจะช่วยให้บุคคลมองเห็นตัวเองอย่างลึกซึ้งจนตระหนักถึงทัศนคติหรือความ ลำเอียงทางเชื้อชาติ เพศ เศรษฐกิจ สถานะ ที่ฝังลึกอยู่ในตน อันเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้โลกตามความเป็นจริง
       สติยังช่วยให้ปัญญาหรือความรู้ที่มีอยู่ ถูกดึงมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ด้วย และหากฝึกฝนมาดีพอ ทั้ง ๆ ที่เห็นหรือรับรู้สิ่งที่ไม่ดี แทนที่จะเป็นโทษก็อาจเป็นคุณด้วย พุทธศาสนาแม้จะเน้นการรับรู้สิ่งที่ดี แต่เมื่อมีเหตุจะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ท่านก็สอนให้รู้จักเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี พระเถระบางรูปในสมัยพุทธกาล เช่น พระลกุณฑกภัททิยะเห็นนางคณิกาหัวเราะแย้มยิ้ม แทนที่จะเกิดกามราคะในใจ ท่านกลับพิจารณาเป็นอารมณ์ จนเกิดความสลดสังเวชในสังขาร และบรรลุอนาคามิผลทันที ยิ่งพระนาคสมาลด้วยแล้ว ท่านบรรลุอรหัตผลขณะเห็นผู้หญิงฟ้อนรำกลางถนนด้วยซ้ำ
        ในพุทธศาสนามีคำว่า อินทรียสังวร หรือการสำรวมอินทรีย์ หมายถึงการระวังไม่ให้อกุศลธรรมครอบงำใจเมื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ มักเข้าใจกันว่าอินทรียสังวรหมายถึงการระวังหูระวังตาไม่ไปรับรู้รับเห็น สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม นี้ยังเป็นความหมายที่แคบ การสำรวมอินทรีย์ที่แท้จริงหมายความรวมถึง การรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่เกิดอกุศลแม้จะเห็นสิ่งไม่ดีไม่งาม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายคำนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าหมายถึง"การใช้อินทรีย์ให้เป็น" ความหมายดังกล่าวมีความสำคัญมาก การฝึกฝนอบรมเยาวชน(และผู้ใหญ่)ที่แล้วมาเน้นให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี (เช่น สื่อลามก และสื่อรุนแรง) แต่การสอนเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะทุกวันนี้สิ่งดังกล่าวได้แพร่สะพัดไปทั่ว และตามเข้าไปถึงห้องนอน (โดยผ่านโทรทัศน์ วีดีโอ และคอมพิวเตอร์) ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนยุคบริโภคนิยมไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนให้เยาวชน(และผู้ใหญ่)รู้ว่าจะวางใจอย่าง ไรเมื่อประสบพบเห็นสิ่งเหล่านี้ พูดง่าย ๆ คือฝึกให้เป็นฝ่ายรับที่ชาญฉลาด แทนที่จะเอาแต่หลบเลี่ยง(ซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้ว)
       แน่นอนว่าสติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากสำหรับอินทรียสังวร แต่อินทรียสังวรจะเกิดผลดีได้ต้องอาศัยปัญญาหรือการรู้จักคิดด้วย นี้เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการ
       ก่อนที่จะพูดต่อไปถึงเรื่องโยนิโสมนสิการ ควรกล่าวด้วยว่ายังมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การเข้าใจเนื้อหาสาระหรือจับประเด็นได้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ในกรณีที่เป็นการฟังหรือการอ่าน การรับรู้ที่ถูกต้องมิได้หมายความว่าได้รับรู้ถ้อยคำอย่างถูกต้องครบถ้วน เท่านั้น หากยังรวมไปถึงการเข้าใจเนื้อหาหรือสามารถจับประเด็นที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ สื่อได้ และถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือสามารถเข้าใจอรรถหรือจุดมุ่งหมายของเนื้อหาดัง กล่าว ประเด็นนี้จะได้กล่าวต่อไป
                     
                                                               การคิด
        เมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น และครบถ้วนแล้ว กระบวนการเรียนรู้ขั้นต่อมาก็คือ การคิด หรือการนำเอาสิ่งที่รับรู้นั้นมาย่อย จัดระเบียบ หรือเสริมเติมต่อเพื่อให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น เปรียบดังการย่อยอาหารให้เกิดพลังงานเพื่อความเจริญเติบโตของร่างกาย
       โยนิโสมนสิการคือการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี สามารถจัดได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ โยนิโสมนสิการแบบปลุกปัญญา คือการคิดเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งตามสภาวะหรือความเป็นจริง โยนิโสมนสิการประเภทนี้มุ่งให้เกิดโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ เข้าถึงอิสรภาพทางจิตและปัญญา แต่ในระดับสามัญหรือโลกียธรรมหมายถึงการคิดเพื่อให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น ส่วนโยนิโสมนสิการอีกประเภทหนึ่งคือ โยนิโสมนสิการแบบเสริมสร้างคุณภาพจิต เป็นการใช้ความคิดเพื่อให้เกิดกุศลธรรม เป็นอุบายลดโลภะ โทสะและโมหะ โดยใช้ธรรมฝ่ายดีมากดข่มหรือทดแทน
       พระพรหมคุณาภรณ์ได้แจกแจงโยนิโสมนสิการ ๒ ประเภทดังกล่าวออกมาเป็น ๑๐ วิธีอย่างละเอียด ผู้สนใจสามารถอ่านได้จาก พุทธธรรม จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้
       อย่างไรก็ตาม ขอกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้จักคิดหรือเกิดโยนิโสมนสิการก็คือการรู้จักตั้งคำ ถาม คำถามนั้นเป็นตัวนำความคิดและกำหนดการรับรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ พระพุทธองค์ได้ใช้คำถามในการกระตุ้นให้เกิดปัญญาบ่อยครั้งมาก อันที่จริงการที่มีพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าชายสิทธัตถะหมั่นตั้งคำ ถามกับตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรถึงจะพ้นทุกข์ได้ คำถามนี้คำถามเดียวเท่านั้นที่ทำให้ทรงสละวังออกบวช ละทิ้งอาฬารดาบส อุททกดาบส และเลิกละการบำเพ็ญทุกรกริยา จนค้นพบสัจธรรม อันทำให้พ้นทุกข์สิ้นเชิง
        คำถามอีกเช่นกันที่ทำให้องคุลีมาลฉุกคิดขึ้นมา เลิกไล่ล่าพระพุทธองค์ และสนใจสดับฟังธรรมจากพระองค์ คำถามนั้นก็คือ"เราหยุดแล้ว แต่เหตุใดท่านจึงยังไม่หยุด ?"
       เมื่อถูกลูกศรเสียบอก ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องหาคำตอบคืออะไร ถามหาว่าใครยิงธนู ? ธนูมาจากไหน ? ทำด้วยอะไร ? หรือตอบให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะถอดลูกธนูออกมาได้ ? คำถามเหล่านี้พระพุทธองค์ได้ใช้ในการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดฉุกคิดขึ้นมา และสนใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ แทนที่จะคอยจะหาคำตอบในทางอภิปรัชญา ว่า โลกเที่ยงหรือไม่ ?คนเรามาจากไหน ? ตายแล้วไปไหน ? ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ทำให้ชีวิตว่างเปล่าและหลงทิศหลงทาง
       กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่รู้จัก คิดหรือคิดไม่ถูกวิธี ขณะเดียวกันคนจะคิดเป็นหรือคิดถูกวิธีได้ก็เพราะรู้จักตั้งคำถาม กระบวนการศึกษาที่ถูกต้องจึงควรให้ความสำคัญแก่การฝึกให้รู้จักตั้งคำถาม ด้วย มิใช่เก่งแต่การแสวงหาหรือจดจำคำตอบอย่างเดียว
      เนื่องจากการเรียนรู้แบบต่าง ๆ พูดถึงเรื่องการคิดไว้มากแล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวในที่นี้มากนัก



                                                                  การปฏิบัติ
        ในทางพุทธศาสนา การปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ขาดการปฏิบัติย่อมมิใช่การเรียนรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูก ต้อง นี้อาจเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การศึกษาแบบพุทธแตกต่างจากการศึกษาแบบตะวันตก หลายสำนัก เพราะฝ่ายหลังนั้นเน้นการใช้ความคิดล้วน ๆ จึงเป็นการเรียนรู้ในระดับพุทธิปัญญา(intellect)
      การศึกษาหรือสิกขาในทางพุทธศาสนา ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกสั้น ๆ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ ส่วนนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ นอกเหนือจากการสดับฟัง การอ่าน และการคิด
       พึงสังเกตว่าการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงเน้นดังปรากฏในพุทธพจน์ต้นบทความก็ คือการปฏิบัติที่เรียกว่าธรรมานุธรรมปฏิบัติ คำนี้มักแปลกันว่า ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม หรือปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ พระธรรมปิฎกให้อธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึง"ปฏิบัติธรรมถูกหลัก คือทำให้ข้อปฏิบัติย่อยเข้ากันได้ สอดคล้องกันและส่งผลแก่หลักการใหญ่ เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ต้องการ" (พุทธธรรม หน้า ๖๘๔) พูดง่าย ๆ คือปฏิบัติตรงตามจุดมุ่งหมาย
       การปฏิบัติให้ตรงตามจุดมุ่งหมายมิใช่เรื่องง่าย พระพุทธองค์เคยตรัสกับพระสารีบุตรว่า ผู้ที่ยินดีในธรรมานุธรรมปฏิบัติ นับว่าหาได้ยาก แม้ว่าในที่นี้พระองค์จะทรงหมายถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตผล แต่ในระดับโลกียธรรมธรรมานุธรรมปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น นอกจากจะต้องรู้ข้อธรรมแล้ว ยังต้องรู้จุดมุ่งหมายของธรรมข้อนั้น ๆ ด้วย จึงจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่นักปฏิบัติเป็นอันมาก แม้จะรู้ข้อธรรมแต่ไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย ดังนั้นเราจึงเห็นคนถือศีลจำนวนไม่น้อย เกิดความหลงตัวหรือยกตนข่มทานว่าสมาทานศีลมากกว่าหรือเคร่งกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ศีลนั้นมีจุดหมายเพื่อการลดละและขัดเกลาตนเอง น้อมจิตสู่ความสงบสำหรับเป็นฐานสู่สมาธิและปัญญา ในทำนองเดียวกันหลายคนถือสันโดษแล้วก็เลยเฉื่อยชา ไม่เอางานเอาการทั้ง ๆ ที่สันโดษนั้นพระองค์ทรงสอนเพื่อผู้คนจะได้เอากำลังและเวลาที่เคยปรนเปรอตน ไปใช้ในการสร้างสรรค์ความดีงามทั้งสำหรับตนและส่วนรวม อีกตัวอย่างคือสุขและสัปปายะ จุดมุ่งหมายของทั้ง ๒ ประการ เพื่อเอื้อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยดี แต่คนเป็นอันมาก เมื่อได้รับความสุขและอยู่ในที่สบาย(สัปปายะ) ก็พอใจเพียงเท่านั้น หยุดนิ่ง ไม่สนใจที่จะเพียรพยายามพัฒนาตน
       ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นก็เพื่อจะชี้ว่า นอกจากจะให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติในฐานะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการ เรียนรู้แล้ว การเข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติแต่ละอย่างก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ จึงไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถชี้แนะสิ่งดีงาม(ธรรม)แก่ศิษย์แล้ว ยังจะต้องเข้าใจกระจ่างชัดในจุดมุ่งหมาย(อรรถ)ของสิ่งเหล่านั้นด้วย พร้อมกันนั้นก็สามารถช่วยให้ศิษย์รู้จักคิด สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของสิ่งที่ตนสอน จับหลักจับประเด็นได้ พร้อมกับเข้าใจจุดมุ่งหมายของหลักหรือสาระเหล่านั้นได้ด้วย (พระพรหมคุณาภรณ์เรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์) เมื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายแล้ว ก็สามารถประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เกิดผลได้ในทุกสถานการณ์ หรือสามารถบูรณาการสิ่งเหล่านั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตประจำวัน ได้ คนเป็นอันมากไม่สามารถเอาความรู้มาใช้ในประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของความรู้เหล่านั้น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือแม้แต่ศาสนา จึงเป็นเพียงแค่ความรู้ในตำราที่ใช้ประโยชน์เฉพาะเวลาสอบหรือโต้เถียงกัน เท่านั้น ในทำนองเดียวกันวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่มิได้ช่วยให้คนรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเลย
        ผู้ที่สนใจการปฏิบัติในฐานะที่เป็นกระบวนการเรียน รู้ ขอแนะให้ดูตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากบทความเรื่อง"ปลูกผักสร้างคนที่ โรงเรียนวัดวังสวัสดี"ใน สานปฏิรูป ฉบับที่ ๑๔ เดือนเมษายน ๒๕๔๒ บทความนี้เป็นเรื่องของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยใช้การปลูกผักเป็นสื่อหรืออุบาย เด็กจะเรียนรู้คณิตศาสตร์ ศีลธรรม นิเวศวิทยา วิชาธุรกิจและการจัดการ รวมทั้งคุณค่าของการร่วมมือกัน จากการที่ได้ร่วมกันปลูกผัก ในด้านหนึ่งนี้คือการฝึกให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติและใช้ ความจริงเป็นตัวตั้ง (แทนที่จะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง) อีกด้านหนึ่งนี้เป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้และวิชาการทั้งหลายให้มา ผสานกันโดยมีแปลงผักเป็นจุดเชื่อมต่อ แต่แปลงผักจะนำผู้เรียนไปสู่โลกแห่งวิชาความรู้สาขาต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อครูหรือผู้แนะนำนั้นรู้ชัดในอรรถหรือจุดมุ่งหมายของกิจกรรม ต่าง ๆ ที่แนะให้เด็กทำ หาไม่แปลงผักก็มีความหมายเพียงแค่อาหารกลางวันราคาถูกหรือคะแนนเสริม ประสบการณ์เท่านั้น
       ควรกล่าวย้ำด้วยว่า การปฏิบัติที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การทำ"การบ้าน"หรือการทำแบบฝึกหัดในหนังสือเท่า นั้น หากยังหมายถึงการพาตนออกจากห้องเรียนสู่โลกกว้าง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่งท่ามกลางสังคม เพื่อรู้จักชีวิตและความเป็นจริง
       การรับรู้ การคิด และการปฏิบัตินี้ ในที่สุดก็จะเชื่อมกันเป็นวัฎจักร เพราะเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้รู้จักคิดได้ดีขึ้น และเกิดความรู้ใหม่แล้ว ยังทำให้เกิดทัศนคติใหม่ เกิดความใฝ่รู้ มองสิ่งต่าง ๆ ว่าเอื้อให้เกิดปัญญาได้ทั้งนั้น อีกทั้งยังอาจเกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่นมากขึ้น เช่นเห็นว่าการร่วมมือกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น ทัศนคติเหล่านี้ย่อมเปิดใจให้รับรู้สิ่งต่าง ๆได้มากขึ้น ละเอียดลออถี่ถ้วนขึ้น เรียกว่าเปิดใจกว้างและเป็นกลางได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มสมรรถนะในการใช้อินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ การรับรู้เช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการคิดและการปฏิบัติที่เกื้อกูลเป็นกุศล มากขึ้น เอื้อให้เกิดความเจริญแห่งปัญญา และนำไปสู่ความงอกงามแห่งชีวิตและสังคมในที่สุด
       นอกจากการสัมพันธ์เชื่อมโยงจนครบวงจรแล้ว ในทางพุทธศาสนายังเห็นว่า ทั้งการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติ ในตัวมันเองก็เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาได้ด้วยโดยที่ไม่ต้องรอให้เชื่อมโยงจนครบ กระบวนการเสียก่อน ดังเรียกปัญญาที่เกิดจากการรับรู้สดับฟังว่าสุตมยปัญญา เรียกปัญญาที่เกิดจากการคิดว่าจินตามยปัญญา และเรียกปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติว่าภาวนามยปัญญา อย่างไรก็ตามกล่าวโดยรวมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติก็ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ แม้แต่ปัญญา ๓ ประเภทที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาอย่างถึงที่สุด ก็มิได้อาศัยการรับรู้ การคิด และการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ หากยังต้องมีองค์ประกอบอีก ๒ อย่างเป็นทุนเดิมหรือปัจจัยหนุน เพียงแต่ไม่เด่นเท่านั้น
                                                                                 *******
กิ่งธรรมจาก http://www.visalo.org

No comments:

Post a Comment