Tuesday, December 13, 2011

ครู กรุณา กุศลาสัย

  ครูกรุณา กุศลาสัย    


เขียนโดย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
 
 
        เด็กชายกิมฮง  แซ่โค้ว เกิดบนเรือกระแชงที่จอดลอยอยู่ในแควใหญ่ หน้าวัดตะแบก ปากน้ำโพ เตี่ยและแม่เป็นพ่อค้าชาวจีนมีฐานะ แต่โชคร้ายที่ครอบครัวโดนมรสุมชีวิต เตี่ยต้องติดคุกจนถึงตายโดยไม่ใช่การกระทำของตนเองเลย หลังจากนั้นไม่นานแม่ล้มป่วยและตายด้วยโรควัณโรค ชีวิตเหมือนเรืออับปางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อไร้ญาติขาดมิตรที่จะยึดเป็นหลักได้ แต่ชีวิตมาพลิกผันเมื่อพระโลกนาถ-พระในพระพุทธศาสนา มีเชื้อสายอิตาเลียน มาประกาศหา ?พระและสามเณรใจสิงห์? เพื่อไปศึกษาและเผยแพร่ธรรมะในต่างแดน เด็กชายกิมฮง ซึ่งเผชิญโลกอยู่เพียงลำพังด้วยวัยเพียง 13 จึงตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า ตัดสินใจบวชเป็นสามเณรกับพระโลกนาถที่ใต้ต้นขนุนวัดตลิ่งชัน ด้วยหวังที่จะมีโอกาสได้เล่าเรียนหาความรู้กับเขาบ้าง จากการเดินเท้าไปศึกษาและฝึกอบรมในประเทศอินเดียเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาสืบไป การนี้เองพระโลกนาถได้เปลี่ยนชื่อเด็กชายกิมฮงให้ใหม่ว่า ?กรุณา?
        กรุณา ใช้ชีวิตในอินเดียนานนับสิบกว่าปี ได้ศึกษาภาษาฮินดีภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจน เชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ 1 ของอินเดีย เมื่ออายุเพียง 18 ปี เริ่มเขียนข่าวและบทความ ส่งมาตีพิมพ์ในประเทศไทย ในวารสาร ธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ ใช้นามปากกา "สามเณรไทยในสารนาถ" จากนั้นได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน แคว้นเบงกอลตะวันออก ของท่านรพินทรนาถฐากูร และที่อินเดียนี่เองเขาต้องติดคุกสงครามนาน 4 ปีเศษ ร่วมกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในฐานะที่เป็นคนไทย เพราะประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ต้องผจญความทุกข์ยากสารพัดถึงกับต้องกินเนื้อหมา เนื้อแมว เมื่อกลับมาเมืองไทยเป็นนักหนังสือพิมพ์โชคชะตาพาชีวิตให้รู้จักคนสนิทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลายเป็นคณะทูตใต้ดิน   ไปเจริญสัมพันธไมตรีอย่างลับๆ กับจีนแดง ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อความมั่นคงในชีวิตตัวเองและครอบครัวอย่างเหลือหลาย พอบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงผู้นำ เขาถูกคุมขังนานประมาณเกือบ 9 ปี ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร
 
       กรุณา มีความเคารพในมหาบุรุษอินเดีย 3 คนคือ มหาตมา คานธี รพินทรนาถ ฐากุร และบัณฑิตเยาวหราล เนห์รูเขาตั้งใจว่าจะต้องแปลหนังสือ 3 เล่มนี้ให้ได้ คือ อัตชีวประวัติ ของมหาตมา คานธี คีตาญชลี ของ รพินทรนาถ ฐากุร และพบถิ่นอินเดีย ของ บัณฑิตเยาวหราล เนห์รู เขาได้ทำในขณะติดคุกการเมืองที่ลาดยาว จนสำเร็จทั้ง 3 เล่ม ตามที่ตั้งใจ นับเป็นหนังสือที่ทรงความงามและไพเราะจับใจ ด้วยความสามารถทางภาษาของคู่สามีภรรยา คือ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย   ซึ่ง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถึงกับกล่าวว่าเป็น ?สองสดมภ์หลักทางภาษาไทย? เลยทีเดียว และยังผลิตผลงานร่วมกันอีกมากมายอาทิ พุทธจริต   มหากาพย์สงครามมหาภารตะ ฯลฯ ผลงานที่เขาได้ทำมาทั้งหมดนั้น จึงเป็นดั่งสะพานเชื่อมโลกของไทยและอินเดียไว้ด้วยกัน เขาเป็นคนที่ทำให้สะพานทางวัฒนธรรมของสองประเทศเชื่อมต่อกันได้สนิทอย่างแนบ แน่น เพราะ ชีวิตจิตใจของเขามีความเป็นอินเดียอย่างแท้จริง


        เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 กรุณา กุศลาสัย ได้สิ้นลมปราณไปอย่างสงบ ณ บ้านลูกชาย ทางฝั่งธนบุรี นับอายุได้ 89 ปีเศษ โดยไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยแต่สิ้นอายุขัย นับว่าเป็นกุศลสมาจาร ซึ่งหาได้ยากในสมัยปัจจุบัน และการจากไปของบุรุษอาชาไนยของสยามผู้นี้ ก็ดูจะไม่เป็นที่สนใจของผู้คนในกระแสหลักของสังคม ซึ่งอาจจะลืมท่านไปเสียแล้วก็ได้ ทั้งๆ ที่ท่านมีคุณูปการกับบ้านเมืองมามิใช่น้อย และวิถีชีวิตของท่านก็เป็นแบบ อย่างในทางของปูชนียบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง .
******* 
ปลายชอร์ก http://www.snf.or.th

No comments:

Post a Comment