Tuesday, December 6, 2011

บันทึกความคิด ครูสอนดี

บันทึกความคิด ครูสอนดี
หนังสือ "บันทึกความคิด ครูสอนดี"
สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน 
*******

       อยากให้พระอาจารย์เล่าถึงคุณครูที่พระอาจารย์ประทับใจในวัยเด็ก และคุณครูท่านนี้ก็เป็นกำลังใจ หรือแรงผลักดันให้พระอาจารย์คะ

       แม้ว่าอาตมาเป็นเด็กที่ขยันและมีผลการเรียนดี แต่ไม่เคยกระตือรือร้นในการเรียนเลยไม่ว่าวิชาใดก็ตาม จนกระทั่งถึงประถม ๗ มีวิชาหนึ่งที่อาตมารู้สึกว่ามี "ไฟ"ในการเรียนมาก นั่นคือวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากครูที่สอนวิชานี้ไม่เพียงมีความรอบรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากยังสอนได้สนุก มีเกร็ดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาเล่าอยู่เสมอ ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้ อยากติดตามเรื่องเล่าของครู

       ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เราเรียกครูผู้ชายว่ามาสเซอร์ (มาจากคำว่า master) มาสเซอร์ทบ เสนีย์ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกน่าติดตาม แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ท่านมักตั้งคำถามแปลก ๆ ชวนให้ขบคิด บางทีก็มีข้อสังเกตที่สวนทางกับความเข้าใจเดิม ๆ ของเรา ที่อาตมาจำได้แม่นจนทุกวันนี้ ก็คือ คำถามว่าคนไทยหรือคนฝรั่งขี้เกียจกว่ากัน เมื่อเราแสดงความเห็นเสร็จท่านก็เฉลยว่าฝรั่งขี้เกียจกว่า ดังนั้นจึงผลิตเครื่องไม้เครื่องมือมากมายเพื่อช่วยทุ่นแรงทุ่นเวลา นักเรียนประถมอย่างพวกเราไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อน การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์กับท่าน จึงทำให้เรารู้จักตั้งคำถามรวมทั้งรู้จักคิดนอกกรอบบ้าง ประสบการณ์ในวิชาดังกล่าวทำให้อาตมารักวิทยาศาสตร์นับแต่นั้น และสนใจในการศึกษาค้นคว้ารวมทั้งการทดลอง การทดลองทางวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับอาตมา และเมื่อมีความคิดงอกเงยเราก็อยากสื่อความคิดนั้นให้แก่ผู้อื่น จากคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วก็เริ่มอยากขีดเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยา ศาสตร์ไปลงในหนังสือบ้าง จำได้ว่า เคยเขียนไปให้วารสาร "ชัยพฤกษ์ฉบับวิทยาศาสตร์"(ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช) ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของนักเรียนในสมัยนั้น แม้จะไม่ได้ลง แต่นั่นก็เป็นประสบการณ์การเขียนหนังสือของอาตมาเป็นครั้งแรก

       การสอนของมาสเซอร์ทบทำให้อาตมา มีแรงบันดาลใจในทางวิทยาศาสตร์ และตั้งเข็มมุ่งที่จะเป็นวิศวกร แม้เส้นทางชีวิตจะเปลี่ยนไปในหลายปีต่อมา แต่ความสนใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ก็ยังมีอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ควรพูดด้วยว่ามาสเซอร์ทบยังมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมความเป็นนักอ่านของ อาตมา เพราะนอกจากท่านเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดของโรงเรียนด้วย ในชั่วเวลาไม่นานที่ท่านเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดได้กลายเป็น “สวรรค์”น้อย ๆ สำหรับอาตมา โดยต่อมาอาตมาก็ได้ไปช่วยเป็นมือไม้ให้แก่บรรณารักษ์ท่านนี้ด้วย

       คำนิยามของคำว่า "ครูสอนดี" ในมุมมองของพระอาจารย์มองว่าอย่างไงคะ

        ครูสอนดีหมายถึงครูที่ไม่เพียงรู้รอบวิชาที่ตนเองสอน สามารถโยงไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ โดยมีวิธีการพูดที่ชวนติดตามเท่านั้น หากยังสามารถกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักคิด นั่นคือรู้จักตั้งคำถามเพื่อให้เด็กสนใจที่จะหาคำตอบด้วยตัวเอง วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเกิดความสนใจใฝ่รู้อยากค้นคว้า ครูที่สอนดีไม่ใช่ครูที่สามารถให้คำตอบแก่เด็กทุกเรื่องในวิชาที่สอน แต่เป็นครูที่สามารถกระตุ้นให้เด็กอยากหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางหรือวิธีการในการแสวงหาคำตอบ ความรู้นั้นไม่สำคัญเท่ากับวิธีการแสวงหาความรู้ เพราะความรู้นั้นอาจล้าสมัยในเวลาไม่นาน สิ่งที่เรารู้ในวันนี้อาจมีประโยชน์น้อยมากในวันข้างหน้า เพราะโลกแปรเปลี่ยนไป แต่หากนักเรียนเป็นผู้รู้จักคิดและมีวิธีการแสวงหาความรู้ที่ดี เขาก็จะมีปัญญารู้ทันโลกหรือคิดล้ำหน้ายุคสมัยก็ได้ แต่คุณสมบัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความสนใจใฝ่รู้หรือรักที่จะรู้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักเรียนจะได้จากครูที่สอนดีนั้น มิใช่ความรู้ แต่คือ "แรงบันดาลใจ" หรือ "ไฟ"ที่อยากศึกษาค้นคว้าไม่รู้จบ อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ นอกจากการสร้างแรงบันดาลให้ใฝ่รู้ในวิชาที่สอนแล้ว ครูสอนดียังเป็นครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเป็นคนดีด้วย มิใช่เป็นคนเก่งหรือรู้รอบเท่านั้น

        พระอาจารย์มีความคาดหวังอย่างไรกับ "คุณครู" ในปัจจุบันคะ

        อาตมาอยากเห็นครูที่มีความภูมิใจในความเป็นครู ไม่รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น แม้เงินเดือนจะน้อยกว่าเขาก็ตาม เพราะคุณค่าของชีวิตมิได้อยู่ที่ทรัพย์สมบัตินอกตัว หากอยู่ที่คุณงามความดีภายใน อย่างไรก็ตาม นอกจากคุณธรรมภายในแล้ว ครูควรเป็นผู้ที่ใฝ่รู้และมี "ไฟ"ในการศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ ต่อเมื่อครูมี"ไฟ"เท่านั้น จึงสามารถบันดาลใจให้นักเรียนมีใจใฝ่รู้และกล้าสู้สิ่งยาก ไม่กลัวอุปสรรค เพราะรู้ดีว่าไม่ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็สามารถให้บทเรียนหรือความรู้แก่เราได้ทั้งนั้น

       อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเห็นก็คือ ครูที่เห็นว่าการสอนของครูสำคัญน้อยกว่าการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ว่าพยายามสอนมากมายเพียงใด หากนักเรียนไม่เกิดการเรียนรู้ หรือไม่มีการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้เลย การสอนของครูก็แทบจะสูญเปล่า (ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในเวลานี้) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีหรือเทคนิคการสอน แต่อยู่ที่ใจของครูที่นอกจากจะมี "ไฟ"แล้ว ยังมีเวลาให้แก่นักเรียนและพร้อมจะฟังนักเรียน ครูที่ฟังนักเรียนด้วยความใส่ใจและด้วยเมตตากรุณา พร้อมจะเข้าใจเด็ก จะสามารถกระตุ้นพลังฝ่ายบวกในตัวเด็ก จนเกิดความเพียรพยายาม ความอยากทำสิ่งดี ๆ รวมทั้งความใฝ่รู้และรู้จักคิดได้ในที่สุด ทุกวันนี้เด็กไทยจำนวนมากต้องการครูแบบนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเด็กที่ใคร ๆ มองว่าเป็น “เด็กเหลือขอ”

******* 
ปลายชอล์ก http://www.visalo.org

No comments:

Post a Comment