Tuesday, December 13, 2011

นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนวิชาชีวิต แก่พระไพศาล วิสาโล

รำลึกถึง นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม
โดย  พระไพศาล วิสาโล 

       ย้อน หลังไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ในช่วงที่อาตมาแทบไม่ได้เข้าห้องเรียนเลย (ตลอด 4 ปีครึ่งในมหาวิทยาลัย มีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน) มีบุคคลผู้หนึ่งที่อาตมานับถือว่าเป็นครูได้อย่างสนิทใจ บุคคลผู้นั้นคือ นิโคลัส เบนเนตต์

       นิโคลัส เบนเนตต์ เป็นชาวอังกฤษ มาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2513 ในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่อายุเพียง 28  ปี ในชั่วเวลาไม่ถึง 2 ปี เขาได้รับการยกย่องในหมู่นักวิชาการและนักศึกษาหัวก้าวหน้าว่าเป็นผู้ที่มี ความคิดเฉียบคมด้านการศึกษา งานเขียนของเขาหลายชิ้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของปัญญาชนหลายฉบับ เช่น ปาจารยสาร ศูนย์ศึกษาวิทยาสาร

ช่วง นี้เองที่อาตมาได้รู้จักนิโคลัส ผ่านงานเขียนดังกล่าว โดยเข้าใจไปว่าเขาทำงานในต่างประเทศ เขาเขียนหนังสือได้น่าอ่าน ชัดเจน เป็นรูปธรรม และวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เสนอทางออกที่น่าสนใจ

       อาตมา รู้ในเวลาต่อมาว่าเขาเป็นผู้ที่นิยมสันติวิธี และมีความรู้ในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานกับเขาจนกระทั่งหลัง 6 ตุลา ฯ ตอนนั้นมีนักศึกษาประชาชนกว่าสามพันคนถูกจับด้วยข้อหาร้ายแรงจากเหตุการณ์ นองเลือดที่ธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีการกวาดล้างคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาลอีกหลาย พันคนทั่วประเทศ ขณะที่อีกหลายพันหนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐบาล

อาตมา กับเพื่อนหลายคนทั้งพระและฆราวาสซึ่งห่วงใยในบ้านเมืองว่าจะลุกเป็นไฟหนัก ขึ้น จึงได้ช่วยกันฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (ซึ่งตั้งในปี 1๙ แต่ก็เหมือนยุบไปหลัง 6 ตุลา ฯ) โดยได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลายท่านทั้งในวงการศาสนาและสิทธิมนุษยชน (เช่น สังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ อ.โกศล ศรีสังข์ และอ.โคทม อารียา) ทั้งนี้โดยเน้นหนักการรณรงค์เพื่อนิรโทษกรรมนักโทษ 6 ตุลา ฯ การปกป้องสิทธิมนุษยชน และการสมานไมตรีภายในชาติ

       พี่ ประชา หุตานุวัตร ซึ่งตอนนั้นบวชพระอยู่ (ขณะที่อาตมายังเป็นนักศึกษาปี 2) รู้จักกับนิโคลัสดี ได้ชักชวนนิโคลัสให้มาเป็นกรรมการกศส. ด้วย นิโคลัสไม่ได้เป็นกรรมการแต่ในนาม แต่ยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานกศส. ซึ่งมีอาตมาเป็นหนึ่งในนั้น พวกเราทำงานกันเต็มเวลาก็ว่าได้โดยอาศัยบ้านพักของนิโคลัสเป็นที่ประชุมทุก อาทิตย์ (ขณะที่สำนักงานตั้งอยู่ที่ถ.ประมวญ) ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การติดตามสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด

       ช่วง นี้เองที่อาตมาได้เรียนรู้จากนิโคลัสหลายอย่าง ทั้งในด้านชีวิตและการทำงาน นิโคลัสเป็นคนที่ฉลาดมาก จับประเด็นเร็ว คิดชัดมาก (อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวว่าเท่าที่รู้จักคนมามากมาย ในเมืองไทยมีคนที่หลักแหลมจับประเด็นไวเพียง 3 คน คือ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ และนิโคลัส) แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เป็นคนที่สุภาพ อ่อนโยน มีเมตตา แถมยังมีความกล้าอย่างมาก คนที่จะมีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 3 ประการ (ฉลาด สุภาพ และกล้าหาญ)อย่างเขานั้นหาน้อยมาก

         นิโคลัสเป็น ที่ปรึกษารัฐบาล แต่เขาไม่เคยกลัวตกงาน ความที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีในอังกฤษบ้านเกิด เขาจึงเป็นเสมือนมันสมองให้กับพวกเราในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องคัดง้างกับรัฐ ตลอด 3 ปีที่เราทำงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการและกึ่งเผด็จการ พวกเรามีโอกาสติดคุกตลอดเวลา เช่นเดียวกับนิโคลัสที่มีโอกาสถูกไล่ออกนอกประเทศ แต่การได้อยู่ใกล้ชิดกับนิโคลัส ทำให้พวกเรากล้าที่จะทำงานเสี่ยงคุกตะราง

       นิโคลัสอายุมากกว่าอาตมา 15 ปี แต่เขาปฏิบัติกับพวกเราเหมือนเพื่อนยิ่งกว่า ?ผู้ใหญ่?อีกทั้งยังรับฟังความคิดของเรา และพร้อมรับคำติติง เขาจึงเป็นเสมือนครูที่ส่งเสริมให้พวกเรากล้าคิดกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันมีอุบายในการกระตุ้นให้เราเอาชนะความกลัว เขาพยายามผลักดันให้เราก้าวไปให้ไกลที่สุดจนกว่าจะถึงขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จะว่าไปแล้วสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นก็เป็นใจ แม้ความกดดันจะมีมากแต่มันก็ได้รีดเค้นเอาส่วนที่ดี ๆ ของเราออกมามิใช่น้อย โดยเฉพาะการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง พวกเราหลายคนไม่กลัวติดคุกเพราะรู้สึกว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ ผู้อื่นได้ประสบ

       อีก อย่างหนึ่งที่อาตมาได้เรียนจากนิโคลัสคือ อหิงสธรรม แม้เขาจะเป็นนักยุทธวิธีด้านสันติวิธีตัวฉกาจ แต่วิถีชีวิตของเขาก็เป็นไปในทางสันติด้วย เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ จริงใจ และยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ เขาเป็นคนที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์มาก (แต่ก็ไม่ใจอ่อนจนตามใจเขา)

        เมื่อ สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ปี 22 นิโคลัสได้ย้ายไปทำงานที่ประเทศเนปาล ที่นั่นเขาได้สร้างคนรุ่นใหม่หลายคน เขาพาคนเหล่านี้ขึ้นเขาไปตามหมู่บ้านกันดารเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาควบคู่กับ การสร้างจิตสำนึก เขาไม่เหมือน ?ผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก?ทั่วไป เพราะเขาไม่ชอบนั่งวางแผนในห้องแอร์ แต่จะต้องลงพื้นที่และไปอยู่กินกับชาวบ้าน เขาเป็นคนที่อดทนและแข็งแรง สามารถเดินข้ามเขาเป็นลูก ๆ เป็นเวลาหลายวัน พร้อมกับพาเจ้าหน้าที่พื้นเมืองไปด้วย ทราบว่าหลายคนต่อมาได้เป็นแกนนำในขบวนการต่อต้านรัฐบาลเนปาล

       นิโคลัส ย้ายไปทำงานให้กับธนาคารโลก แต่เป็นเสมือน  ขบถ ที่นั่น เพราะไม่ชอบอยู่วอชิงตัน แต่ลงไปทำงานในอาฟริกาหลายประเทศ และใช้ชีวิตแบบติดดินชนิดหัวหกตีนขวิดอยู่หลายปี จนกระทั่งเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางประสาทกล้ามเนื้อที่เป็นกรรมพันธุ์ พี่ชายเขาตายด้วยโรคนี้หลังจากล้มป่วยไม่นาน แต่นิโคลัสได้ประคองรักษาตัวจนสามารถอยู่ได้นานเกือบ 10 ปี

       นิโคลัส เป็นคนที่ถือพุทธ เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้อาตมาศรัทธามั่นคงในพระศาสนาและภูมิปัญญาตะวันออก รวมทั้งสันติวิธี ภรรยาของเขาคือมองตาเน็ตก็เป็นครูโยคะคนแรกของอาตมาตั้งแต่ปี 18

        แม้ เขาไม่ค่อยสนใจประเพณีพิธีกรรมและการภาวนาในรูปแบบ แต่เขาก็เป็นชาวพุทธที่แท้ที่มั่นคงในหลักการ เขาเตรียมพร้อมรับมือความตายอยู่ทุกขณะ เขามีอาการหนักจนโคม่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และสิ้นลมเมื่อตี 2 ของวันถัดมา สิริรวมอายุได้ 68 ปี

          ในหนังสือเรื่อง  สร้างสันติด้วยมือเราที่อาตมาเขียนตั้งแต่ปี 2532 ได้เขียนคำอุทิศว่า
แด่ นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม? แม้จนวันนี้อาตมาก็ยังซาบซึ้งในบุญคุณของครูผู้นี้ และจะระลึกถึงตราบชีวิตจะหาไม่
******
ปลายชอร์กจาก http://www.snf.or.th
  

No comments:

Post a Comment