Tuesday, December 27, 2011

“ฝันให้พอดีกับที่เราทำได้” ความสุขในงานแต่งเพลงของ ครูสลา คุณวุฒิ

ครูสลา “ฝันให้พอดีกับที่เราทำได้”
ความสุขในงานแต่งเพลงของ ครูสลา คุณวุฒิ

 
        ใครๆ ในวงการยกให้เป็น “นักแต่งเพลงมือทองสมองเพชร” ในฐานะที่เขียนเพลงลูกทุ่งได้โดนใจคนฟัง ดีและดังติดหูติดใจแฟนเพลง แต่ครูสลาออกตัวอย่างถ่อมตนว่า ถ้าจะให้คะแนนตัวเองก็คงเป็นคะแนนความขยันและการมีความสุขอยู่กับงาน และบอกว่าความจริงเพลงที่ ไม่ดังก็มาก มากกว่าเพลงดัง ๆ ด้วยซ้ำไป  เพียงแต่คนไม่รู้ คนฟังรู้จักแต่เพลงที่ดัง  แต่ด้วยความที่ครูสลาทำงานออกไปมาก จึงดูเหมือนว่า แต่งเพลงดังออกมาตลอดเวลา และนักร้องดังๆ ทุกคนต่างก็ร้องเพลงที่ครูสลาแต่ง

       ครูสลาพูดถึงการทำงานของตัวเองว่า “คนอาจมองว่าเราเหนื่อย เครียด แต่ผมไม่เหนื่อยเลยกับการอยู่กับเพลง หนังสือและการเขียน มันไม่ใช่ภาระแต่คือการพักผ่อน” ตั้งแต่เช้าของทุกวัน ครูสลาจะอยู่กับกาแฟถ้วยหนึ่ง แล้วนั่งเขียนเพลงไปจนจบหนึ่งเพลง ซึ่งอาจกินเวลา 30 นาที ไปจนถึง 8 ชั่วโมง  เพลงที่แต่งใหม่อาจจะจบหรือไม่จบ แต่ถึงบ่าย 2 โมง ครูจะเข้าห้องอัดเสียง ทำงานเพลงในส่วนของดนตรีกับ ทีมนักดนตรีหรือคุมการร้องของนักร้อง  ยาวไปจนถึงเย็น ค่ำ หรือเช้าของอีกวัน ตามแต่ความติดพันต่อเนื่องของงาน และไม่ว่าจะนอนดึก แค่ไหน ครูสลาจะยังคงตื่นเช้าเสมอ ซึ่งครูบอกว่าเป็นนิสัยที่ติดมาตั้งแต่เป็นครูประชาบาล ด้วยความขยันพากเพียรและทุ่มเทมาแต่ครั้งเป็น นักแต่งเพลงไร้ชื่อ เมื่อเริ่มหัดเขียนเพลงเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จนกระทั่งมีชื่อเสียงไปทั่วฟ้าเมืองไทย  ครูเพลงบ้านป่าไม่เคยหลงลืมตัว แต่ยังคง ทำงานหนักอย่างบากบั่น

       “เรามีความสุขกับการได้อยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน ไม่ไปกินไปเที่ยวที่ไหน พอทำงานเสร็จมันเป็นเหมือนได้พักผ่อนไปในตัวแล้ว ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย” ครูสลาพูดถึงเพื่อนร่วมงาน แล้วพูดถึงตัวเอง “ผมไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ไม่เป็น ไม่เสียเวลากับเรื่องอื่น  อย่างมากก็ไปดู แผงเทป แผงหนังสือ กินกาแฟกินลาบกับเพื่อน เรื่องเที่ยวเตร่นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะอย่างไปเที่ยวคืนหนึ่งนี่ ล้าไป 3-4 วันนะ” จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันครูสลายังคงเขียนเพลงได้ทุกวัน วันละเพลง หรือน้อยกว่านั้นก็ไม่ต่ำกว่าวันละ 20 เพลง

        ครูเพลงชื่อดังแห่งยุคขยายความหมายของคำว่า ความสุขในการทำงานว่าเกิดขึ้นใน 3 ระดับ แรกสุด เมื่อเขียนเพลงของตัวเองจบลงได้ อย่างที่พอใจ เขียนได้อย่างที่คิดก็เกิดความสุขใจ ต่อมา เมื่อนักร้องเอาไปร้องแล้วช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ นั่นเหมือนครูเพลง ได้ส่งศิษย์ให้ถึงฝั่งฝันและสุดท้าย คือเมื่อได้รางวัล ซึ่งครูสลาบอกว่ารางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การที่เพลงได้รับความนิยม นั่นถือเป็นรางวัลที่ มหาชนคนฟังเพลงเป็นผู้มอบให้

       ในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน ครูสลากล่าวว่าเท่าที่ผ่านชีวิตมาจนถึงวัยกลางคนพบว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ที่สุด คือการใช้ชีวิตอย่างคน สามัญและการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น “มองว่าถ้าเราทำอะไรให้แผ่นดินได้ก็ทำ ถ้าทำได้จะลงมือเลยไม่ต้องรอ  ที่ทำมาแล้วก็เช่น เราพอมีความถนัดในเรื่องการขีดเขียนบุกมาจนได้เป็นครูเพลง ก็ทำกองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ ขึ้นมา ทำค่ายจุดประกายความใฝ่ฝัน เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรมให้กับครูและนักเรียนตามโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศมา ตั้งแต่ปี 2548 ทำมาแล้วเกือบ 30 ค่าย เป็นวิทยาทานให้กับ คนรุ่นหลังที่อยากเป็นนักเขียน นักแต่งเพลง แต่ไม่รู้จะไปหาใคร 

       เราเอาประสบการณ์ เส้นทางความเป็นมาของเราไปเล่าให้เขาฟังในจังหวะที่เหมาะสม ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมได้” ครูเพลงบ้านป่าให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า เมื่อมีความฝันก็ควรจะเดินไปตามความฝัน แต่ถ้าไม่ได้ก็อย่าถึงกับลงโทษตัว เอง และอยาก ให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงาน หากไม่ได้อย่างที่ฝัน เช่นเดียวกับที่ครูสลาเองก็เคยอยากเป็นนักเขียนเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นแต่กลับ ได้เป็นครู ก็มีความสุขกับการเป็นครูและมีความสุขกับการได้เขียนเพลงส่งไปตามค่ายเพลง ต่างๆ  แม้จะยังไม่ได้รับ การยอมรับแต่ถือว่าการเขียนเป็นการ ให้รางวัลหล่อเลี้ยงใจตนเองไปเรื่อยๆ “ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำว่าฝันให้ไกลไปให้ถึง แต่ผมมองว่าฝันให้พอดีกับที่เราทำได้ คำว่าฝัน ให้ไกลบางทีก็บั่นทอน และทำให้เราผิดหวังรุนแรง  บางคนเอาความฝันเป็นที่ตั้งโดยลืมถามว่าสิ่งนั้นเหมาะกับตัวเองหรือเปล่า พอไม่ได้อย่าง ที่ชอบก็ผิดหวัง”

       บนถนนของนักแต่งเพลงมืออาชีพ ครูสลาบอกว่าจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  ถ้าเมื่อใดที่รู้สึกว่าเราเก่งแล้ว นั่นแหละจะเริ่มต้น แต่ถ้ารู้สึกว่า เรายังไม่ใช่คนเก่งก็ต้องเติมต้องค้นคว้าและฟังคนอื่น “ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะไปได้เรื่อย ๆ คนบนฟ้ารักคนนิสัยแบบนี้” ท้ายประโยคเหมือน ครูสลาจะเชื่อในเรื่องโชคชะตาฟ้าดินด้วย “บางทีเวลาแต่งเพลงได้ดั่งใจ จะรู้สึกว่าทำไมเราคิดคำนี้ได้ เหมือนเราเองก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน มันมาระหว่างทำงาน  เหมือนมีโชคช่วย” แต่คำว่าโชคนั้นครูสลาพูดย้ำว่าเป็นโชคที่เกิดจากการสั่งสมมาจากความรักการ อ่าน การเติมเต็ม ให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

       ทุกวันนี้แม้จะอยู่ในฐานะครูเพลงชื่อดังคับฟ้าวงการลูกทุ่ง แต่ครูสลา คุณวุฒิ ยังคงดำรงตนอย่างเรียบง่ายและใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา “ให้อยู่กับหนังสือทั้งวันก็อยู่ได้  บางทีตอนเสพไม่ได้ตั้งใจว่าจะเอามาใช้ แต่วันหนึ่งผลจากความชอบเหล่านี้จะมาช่วยเรา”  
*******
ปลายปากกา จาก http://www.budnet.org

No comments:

Post a Comment